Topic List

Submitted by sorawit on 31 ส.ค. 2564 21:25

โดย.. เกษม ลิมะพันธุ์  สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย

หนึ่งในประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับไทยคือมาเลเซีย ผมเคยเดินทางไปท่องเที่ยวมาเลเซีย 5 ครั้ง ในแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ปัจจุบัน มาเลเซียได้รับผลกระทบจากโควดิด-19 ที่ต่อเนื่อง การบริการจัดการที่ไม่มีทีว่าจะลดลง ฝ่ายการเมืองกดดันจนนายกรัฐมนตรีลาออก ได้นายกคนใหม่ชื่อ อิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ (Ismail Sabri bin Yaakob) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา

วันนี้ครบรอบ 64 ปีที่ที่ประเทศมาเลเซีย (Malaysia) ได้รับเอกราชจากอังกฤษ #วันนี้ในอดีต คือวันที่ 31 สิงหาคม 2500 หลังจากที่ถูกยึดเป็นอาณานิคมมาตั้งแต่ปี 2329 เป็นเวลาถึง 171 ปี ปัจจุบันมาเลเซียปกครองแบบสหพันธรัฐ

มาเลเซีย ประกอบด้วย 13 รัฐ แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ส่วน คือมาเลเซียตะวันตก บริเวณคาบสมุทรมาเลย์ ประกอบด้วย 11 รัฐ และส่วนของมาเลเซียตะวันออก (ที่คนทั่วไปไม่รู้จัก) เป็นภูมิภาคหนึ่งของมาเลเซีย ตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะบอร์เนียว มีชายแดนติดต่อกับอินโดนีเซียและบรูไน เป็นที่ตั้งของรัฐและดินแดนสหพันธ์ 3 แห่ง ได้แก่ รัฐซาบาฮ์ รัฐซาราวัก และสหพันธ์ลาบวน

ดินแดนสหพันธ์เป็นดินแดนที่รัฐบาลกลางปกครองโดยตรง ได้แก่ กัวลาลัมเปอร์  (เมืองหลวง), ปุตราจายา (เมืองราชการ) และลาบวน (ศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศนอกชายฝั่ง) โดยทั้งกัวลาลัมเปอร์และปูตราจายาอยู่ในพื้นที่รัฐเซอลางอร์ ส่วนลาบวนอยู่ใกล้รัฐซาบาฮ์

มาเลเซีย เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ฮอลันดา (เนเธอแลนด์) และชาติสุดท้ายคืออังกฤษ โดยอังกฤษไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของมลายู (ชื่อเดิม)มากนัก ยังคงพยายามที่จะรักษาสถานะของสถาบันเดิมเอาไว้ ซึ่งการเข้ามาของอังกฤษส่งผลให้เศรษฐกิจของมลายูได้รับการพัฒนาให้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านการผลิตดีบุกและยางพารา

ในขณะนั้นการจะทำเหมืองและสวนยางพารา จำเป็นต้องใช้แรงงาน ส่งผลให้มีชาวจีนและอินเดียหลั่งไหลเข้ามาในดินแดนนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้มีการแบ่งชนชั้นระหว่างเชื้อชาติ และเคยเกิดการจลาจลขึ้นระหว่างชาวจีนกับชาวมาเลย์

หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีการต่อต้านอังกฤษ โดยเกิดขบวนการชาตินิยมและคอมมิวนิสต์จีนขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อในการรวมตัวกันเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตนเอง รวมไปถึงการมีบทบาททางการเมืองการปกครอง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษปกครองมลายูเข้มงวดกว่าเดิม แต่กลับถูกชาวพื้นเมืองต่อต้านอย่างรุนแรง จนต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่ โดยเน้นเอาใจชาวมาเลย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ายังคงไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากชาวพื้นเมืองมีความตื่นตัวทางการเมือง และหวังได้รับเอกราชอย่างแท้จริง

ในปี 2498 อังกฤษเปิดให้ชาวมาเลย์เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรก ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ตนกู อับดุลเราะห์มาน (Tunku Abdul Rahman) หัวหน้าพรรค UMNO ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้นได้เริ่มทำการเจรจากับอังกฤษในปี 2499  โดยมีผู้แทนจากพรรคพันธมิตร และสุลต่านจากรัฐต่าง ๆ มาเข้าร่วมการประชุม และได้ข้อตกลงกันว่า มลายูจะได้เอกราชโดยอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษต่อไป จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2500 ณ สนามกีฬาเนการา (Negara)

วันที่ 31 สิงหาคมของทุกปีจึงกำหนดให้เป็นเป็นวันชาติ (หยุดราชการ) แต่ชาวมาเลย์นิยมเรียกว่าวันเมอร์เดก้า (Merdeka) หรือวันเอกราช