Topic List

58 items(1/6) 2 3 4 5 Next » Last »|
Submitted by torn on 2 มิ.ย. 2567 16:01

“ภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์” โฆษกกระทรวงเผย “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.แรงงาน เร่งเครื่อง “หนึ่งตำบล หนึ่งกลุ่มอาชีพอิสระ” หวังเพิ่มศักยภาพแรงงานอิสระทั่วประเทศ

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบาย “หนึ่งตำบล หนึ่งกลุ่มอาชีพอิสระ” ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยมอบหมายให้คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพอิสระ ที่มีตนเป็นประธาน ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ร่วมกับเรือเอก สาโรจน์ คมคาย รองปลัดกระทรวงแรงงานและเจ้าหน้าที่ เพื่อเก็บข้อมูลและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ  โดยได้พบปะพี่น้องแรงงานอิสระ 4 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มแปรรูปปลาเม็ง อ.บ้านนาเดิม กลุ่มทอผ้า อ.วิภาวดี และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งผลจากการลงพื้นที่ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการตามนโยบายของ รมว.รง.ได้อย่างแน่นอน

โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รมว.แรงงาน ต้องการให้คณะทำงานลงไปค้นหากลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีความเข้มแข็ง มีสินค้าหรือบริการของกลุ่มที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ยังขาดการส่งเสริมสนับสนุนและต่อยอดแบบครบวงจร โดยเน้นการพัฒนาความรู้ เช่น เรื่องกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อยกระดับจากสินค้าธรรมดาให้เป็นสินค้าหรือบริการระดับ Premium และเป็น Soft Power ของท้องถิ่น จากนั้นจึงส่งเสริมการขายและเชื่อมโยงไปสู่ตลาดทั้งภายในประเทศที่จะร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานของกระทรวงแรงงานที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ รวมไปถึงตลาดต่างประเทศที่มีสำนักงานแรงงานประจำอยู่ ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังตลาดในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งนี้คณะทำงานจะนำเสนอแนวทางการดำเนินงานต่อ รมว.แรงงาน ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้

"ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไปจะเริ่มเห็นภาพของโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งกลุ่มอาชีพอิสระที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อ รมว.แรงงานได้รับทราบแนวทางที่คณะทำงานจะนำเสนอแล้วก็จะมีข้อสั่งการเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการร่วมกันและผลักดันให้เกิดผลสำเร็จต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อให้พี่น้องแรงงานอิสระมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีรายได้ดูแลตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี" นายภูมิพัฒน์ กล่าว

Submitted by Soranat on 21 ก.พ. 2567 20:35

จนท.เข้าตรวจสอบพื้นที่ป่าบนเขาสูงท้องที่บ้านสนี ต.ทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา พบการลักลอบตัดไม้แผ้วถางป่า จำนวน 7 ไร่ 80 ตารางวา เตรียมปลูกต้นทุเรียน

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ภายใต้การสั่งของ นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.รมน.ภาค 4 นายมงคล สินยัง นายอำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลา ให้เจ้าหน้าที่ประกอบด้วย จนท.กอ.รมน.ภาค 4 สน. จนท.หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สข.6 (สะบ้าย้อย) จนท.หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้สะบ้าย้อย ชป.พิเศษป่าไม้ จนท.สายตรวจ กก.6 ปทส.จ.สงขลา จนท.ชป.ป่าไม้ ร้อย ตชด.43/ฉก.ตชด.43 จนท.ฝ่ายปกครองท้องที่ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านสนี ต.ทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

เนื่องจากได้รับทราบข่าวจากสำนักข่าว กอ.รมน.ภาค 4 สน.แจ้งว่า มีกลุ่มบุคคลเข้าไปลักลอบตัดไม้ทำลายป่าไม้สมบูรณ์บนภูเขาสูง ป่าต้นน้ำลำธาร ท้องที่บ้านสนี ต.ทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งเป็นป่ารอยต่อของจังหวัดยะลา ด้านอำเภอกาบัง เมื่อได้รับคำสั่ง เจ้าหน้าทุ่จึงออกปฏิบัติการพิสูจน์ทราบการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า แผ้วถางป่า ในสงขลา เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าควนราสอ ป่าควนสอหรอ ป่าควนบางพลา ป่าควนโต๊ะเทพ ต้นน้ำ คลองสนี แม่น้ำเทพา

เจ้าหน้าที่เดินทางจากบ้านสนี โดยรถยนต์บรรทุกไปตามถนนดินผ่านสวนยางพาราสลับกับป่าไม้สมบูรณ์ เข้าไปในป่าตามลำคลองสนีจนสุดทางรถยนต์บรรทุกประมาณ 9 กม. ถึงพื้นที่ป่าสงวนต้นน้ำ แล้วเดินเท้าประมาณ 1 กม.ถึงจุดที่มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และกำลังแผ้วถางป่าใหม่เพิ่มเติม จึงเข้าทำการตรวจสอบที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 160 ม. เป็นพื้นที่ป่าไม้สมบูรณ์บนภูเขาสูง

ตรวจพบต้นไม้ยืนต้นชนิดต่างๆ ถูกตัดโค่นล้มคาตอด้วยเครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ จึงตรวจพื้นที่โดยละเอียดพบต้นไม้ถูกตัดโค่นล้มคาตอ และไม้ขนาดเล็ก ไม้พื้นล่าง วัชพืช ถูกตัดฟันด้วยมีดพร้า เจ้าหน้าที่ตรวจวัดพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายได้จำนวน 7 ไร่ 80 ตารางวา เป็นการเจาะกลางป่าลึกบนภูเขาสูง ลักษณะการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อยึดถือครอบครองที่ดินเพื่อการเกษตร ปลูกทุเรียนขนาดเล็ก ขณะตรวจสอบไม่พบผู้ใดในพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลาย คาดว่าหนีไปก่อนเจ้าหน้าที่ไปถึง

ซึ่งการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเป็นการกระทำความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สข.6 (สะบ้าย้อย) จัดทำบันทึกรายละเอียดตรวจยึดไม้ พื้นที่เสียหาย แล้วนำเรื่องร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ต่อ พนักงานสอบสวน สภ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เพื่อหาตัวผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

Submitted by torn on 14 ต.ค. 2566 16:32

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.แรงงาน มอบกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งช่วยเหลือครอบครัวและแรงงานที่เดินทางกลับจากอิสราเอล หลังต้องใช้ชีวิตในประเทศไทย เพิ่มทักษะอาชีพเสริมให้มีรายได้ และอาชีพติดตัว

น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับข้อสั่งการ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เตรียมความพร้อมช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอล หลังจากที่ต้องเตรียมหาอาชีพใหม่ในประเทศไทย ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้มอบหมายให้หน่วยงานของกรม ได้แก่ สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานที่ตั้งอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เช่น อุบล อุดร นครราชสีมา สกลนคร ศรีสะเกษ บึงกาฬ บุรีรัมย์ หนองบัวลำภู เชียงราย พิจิตร  อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี จันทบุรี และนราธิวาส เป็นต้น สำรวจความต้องการฝึกทักษะฝีมือ โดยเฉพาะทักษะด้านอาชีพเสริม ทั้งนี้การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวยังรวมถึงบุคคลในครอบครัวด้วย พบว่ามีหลายครอบครัวขาดรายได้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยจึงต้องการให้แรงงานและครอบครัวมีทักษะฝีมือสามารถประกอบอาชีพมีรายได้

น.ส.บุปผา กล่าวต่อไปว่า นอกจากการสอบถามถึงความต้องการฝึกทักษะอาชีพเสริมดังกล่าวแล้ว ยังได้พูดคุยและให้กำลังใจกับครอบครัวของแรงงานไทยที่ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล รวมถึงครอบครัวของแรงงานที่ได้รับบาดเจ็บหรือถูกจับเป็นตัวประกันหรือเสียชีวิต พร้อมสอบถามความต้องการได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงแรงงานและการช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านอื่นๆ โดยให้ทุกหน่วยงานรายงานการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้ทำการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ต่อไป

ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รู้สึกห่วงใยและขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือให้พี่น้องแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอลที่ประสงค์กลับมายังประเทศไทยให้มีอาชีพ มีรายได้ และผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ สำหรับครอบครัวของพี่น้องแรงงานชาวไทยที่สนใจฝึกอาชีพ สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือติดต่อผ่านเพจ Facebook ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

Submitted by sorawit on 1 ต.ค. 2566 09:31

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) สสปท.  ณ ห้องประชุมกองความปลอดภัยแรงงาน ชั้น 4 อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่วนแยกตลิ่งชัน 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า  สสปท.เป็นองค์การมหาชน ที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมความรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงานให้กับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง   ในการส่งเสริมความรู้ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้กับแรงงานทุกระดับ  โดยใช้งานวิชาการ จากการทำงานวิจัย การจัดทำมาตรฐาน และการพัฒนานวัตกรรม ในการทำงานเชิงรุก และนำไปสู่การสร้าง “วัฒนธรรมความปลอดภัย”ในการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมา  สสปท.ได้เผยแพร่ความรู้จากงานวิจัยและการจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยอบรมให้กับ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านความปลอดภัย จำนวนกว่า 25,000 คนทั่วประเทศ จากสถานประกอบการ 6,000  แห่ง  จัดทำคู่มือและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย จำนวน 28 เรื่อง และงานวิจัยด้านความปลอดภัยเพื่อต่อยอดเป็นแนวปฏิบัติจำนวน  5 เรื่อง ซึ่งมีผู้สนใจดาวน์โหลดจากเวปไวต์ สสปท.มากถึง 5 แสนกว่าครั้ง
           
“ภารกิจของ สสปท.เรียกได้ว่า มีบทบาทที่สำคัญกับสังคมไทยมาก ในการที่จะสร้างความตระหนักรู้ ปลุกจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ในการทำงานให้เกิดขึ้นในภาคแรงงานและสังคมโดยรวม  เพราะหากที่ไหนมีความปลอดภัย ที่นั่นย่อมลดการสูญเสียทั้งเศรษฐกิจ และชีวิต” นายพิพัฒน์กล่าว             
จากนั้น นายพิพัฒน์ ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สสปท. โดยขอให้ สสปท.ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการ คุ้มครองสิทธิแรงงาน ให้มีความปลอดภัยในการทำงาน นำไปสู่การลดสถิติการประสบอันตรายและโรคจากการทำงานได้ในระยะยาว  และขอให้ สสปท. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน ทั้งภายในกระทรวงแรงงาน และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อร่วมบูรณาการในการทำงานด้านความปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ประชาชน ชุมชน โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ร่วมกัน ในการก่อให้เกิดความปลอดภัยเชิงป้องกันกับทุกภาคส่วนในสังคม

Submitted by torn on 6 พ.ค. 2566 16:39

ตามที่ นายปรีชา สุขเกษม ผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ เขต 5 เบอร์ 7 และนายสมโภช โชติชูช่วง ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ไปร้องต่อผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดสงขลา

โดยกล่าวหาว่ากระผม นายเดชอิศม์ ขาวทอง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 5 หมายเลข 3 กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ พ.ศ. 2561 ตามมาตรา 73 (3) คือโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ นั้น ผมนายเดชอิศม์ ขาวทอง ขอเรียนชี้แจงดังนี้

ประการแรก สำหรับงานแห่รูปเหมือนหลวงพ่อคง เป็นงานประเพณีประจำปี ที่จัดต่อเนื่องมานานกว่า20ปี และการจัดงานดังกล่าวจัดขึ้นโดยเจ้าอาวาสวัดธรรมโฆษณ์และคณะกรรมการจัดงานเป็นผู้จัด โดยเทศบาลเมืองสิงหนครได้สนับสนุนงบประมาณให้ทุกปี และปีพ.ศ. 2566 เทศบาลเมืองสิงหนคร ตั้งงบให้ 120,000 บาท เพื่อสนับสนุนในการจัดงานดังกล่าว

ประการที่ 2 เมื่อวันที่3 พฤษภาคม 2566 ผมและคณะผู้ช่วยหาเสียงได้มีกำหนดการตะเวนไป เพื่อหาเสียงบริเวณพื้นที่เทศบาลเมืองสิงหนคร เมื่อเดินทางไปถึงบริเวณวัดธรรมโฆษณ์  ผมและคณะฯ ได้จะเข้าไปกราบไหว้หลวงพ่อคง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ผมและชาวบ้านทุกคนให้ความเคารพศรัทธามาตลอด และโดยส่วนตัวผมก็ไปกราบไห้หลวงพ่อคงเป็นประจำทุกปี ซึ่งในวันนั้นทางวัดกำลังมีงานขบวนแห่อัญเชิญรูปเขาเหมือนพระครูธรรมโฆษิต (หลวงพ่อคง) ภายหลังที่ผมและคณะฯกราบไหว้หลวงพ่อคงแล้ว ผมและคณะฯจึงเข้าร่วมขบวนเดินแห่รูปเหมือนหลวงพ่อคงของวัด ตามพิธีกรรมที่ยึดถือเป็นประเพณีปฏิบัติต่อเนื่องตลอดมา เพื่อความเป็นศสิริมงคลในชีวิตของผมและคณะฯ ที่สำคัญในวันนั้น นายปรีชา สุขเกษม ผู้สมัคร ส.ส. เขต 5 หมายเลข 7 พรรครวมใจสร้างชาติ ก็ได้เข้าร่วมงานขบวนแห่รูปเหมือนหลวงพ่อคงเช่นกัน ซึ่งนายปรีชา สุขเกษม ทราบดีว่างานขบวนแห่รูปเหมือนหลวงพ่อคง เป็นการจัดขึ้นโดยคณะกรรมการจัดงาน และทราบดีว่า ผมและคณะฯมิได้เป็นผู้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจ ในการจัดงานขบวนแห่ดังกล่าว โดยในวันดังกล่าว ผมและคณะผู้ช่วยหาเสียงอยู่ร่วมในงานขบวนแห่ประมาณ 7-8 นาที จากนั้นก็เดินแยกออกไปหาเสียงในพื้นที่อื่นต่อไป ไม่ได้อยู่ร่วมขบวนแห่ตลอดเวลา

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ในวันรุ่งขึ้นผมได้ให้ นาย กฤช พิทักษ์คุมพล ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อเป็นหลักฐานที่ สภ.สิงหนคร ว่าที่ผมและคณะผู้ช่วยหาเสียงได้ตะเวนหาเสียงในพื้นที่เทศบาลสิงหนคร แล้วไปเจอขบวนแห่รูปเหมือนหลวงพ่อคง ผมและคณะจึงเข้าไปกราบไหว้หลวงพ่อคงและร่วมขบวนแห่รูปเหมือนหลวงพ่อคงเพื่อความเป็นสิริมงคงตามพิธีกรรมเท่านั้น

ดังนั้นที่มีผู้ไปร้องเรียนจึงเป็นความเท็จทั้งสิ้น ฉะนั้นพ่อแม่พี่น้องไม่ต้องเป็นห่วงครับ ผมขอยืนยันว่าผมไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาเลย และเชื่อว่า กกต.คงจะทราบความจริงและให้ความยุติธรรมอย่างแน่นอน

Submitted by sorawit on 1 เม.ย. 2566 22:41

“เสี่ยหนู” ออกงานที่ จ.ตรัง ชูเมกกะโปรเจกต์พัฒนาภาคใต้ให้เป็นด้ามขวานทองของจริง ไม่ใช่ด้ามขวานปิดทอง ขณะที่ “ นาที” แม่ทัพภาคใต้ เปรยหวังเจาะพื้นที่ไข่แดง ปชป.ตรัง 2 ที่นั่ง

วันนี้ (1 เม.ย.) เวลา 10.00 น. ที่สำนักสงฆ์พระประทานอนุสรณ์สถานกตัญญู ม.3 บ้านพรุโต๊ปุก ต.ในควน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง นายอนุทิน ชาญวีระกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เดินทางมาเป็นประธานในพิธี “วันมุติตาจิตกตัญญูผู้สูงวัย ด้วยคุณธรรม” ตามคำเชิญของพระครูภัทรธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขาเหล็ก อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อถวายมุติตาจิตสักการะเจ้าคุณสมเด็จพระมหาวิชิรมังคาจารย์ฯ เจ้าคณะหนใต้ กรรมการเถรสมาคม ซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เพื่อถวายที่ดิน และเสนาสนะเพื่อสร้างวัดในพรพุทธศานา

ในการเดินทางมา จ.ตรัง ในวันนี้ มีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา นางนาที รัชกิจประการ แม่ทัพภาคใต้ของพรรคภูมิใจไทย นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจ นายอารีย์ ไกรนรา พร้อมด้วยว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทยในพื้นที่ภาคใต้ และบรรดาผู้สนับสนุน โดยนายอนุทินได้เดินทักทายกับประชาชนมารอต้อนรับกว่า 2 พันคน ท่ามกลางบรรยากาศคึกคัก

หลังเสร็จพิธี นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่า ที่มั่นของพรรคภูมิใจไทยคือทั่วประเทศไทย พรรคของเราเป็นของคนไทยทุกคน ซึ่งเรามีหน้าที่ต้องทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน เรามี ส.ส.ทุกภาคของประเทศไทย ภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ เราทำงานมา 4 ปี แล้ว มีผลงานอย่างชัดเจน เป็นพรรคที่ส่งมอบนโยบายที่เราได้สัญญากับพี่น้องประชาชนเมื่อปี 2562 ทำได้แทบจะครบทุกนโยบาย หวังว่าผลงานของพรรคภูมิใจไทยก็จะทำให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศเชื่อมั่นให้พรรคภูมิใจไทยให้เข้ามาทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากการเลือกตั้งภายในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 66 ที่จะถึงนี้ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยจะส่งผู้สมัครให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ตอนนี้ยังขาดอยู่ประมาณ 7 เขต แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร  ในส่วนที่เป็นพื้นที่เป้าหมายส่งผู้สมัครครบแล้วทุกคนผ่านไพรมารีโหวตผ่านตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งทุกประการ

นายอนุทิน กล่าวว่า สิ่งที่เราทำไว้ช่วงที่ผ่านมา ทำสะพานเชื่อมเกาะลันตา ทำสะพานเชื่อม จ.พัทลุงผ่านไปยัง จ.สงขลา ได้ด้วยการร่นระยะเวลาการเดินทางกว่า 70 ก.ม. และยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากมาย โครงการคมนาคมขนส่ง ขยายสนามบินในหลายๆ จังหวัดในภาคไต้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศไทยของเรากลับมาผงาดศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ หมายถึง อาเซียนและเอเชียด้วย จะทำให้เกิดสภาพทางเศรษฐกิจพื้นที่ทางเศรษฐกิจขยายตัวในพื้นที่ทางภาคไต้ ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เป็นแหล่งดูแลสุขภาพ เมคดิคอลฮับออฟเดอะเวิลที่จะอยู่ในจังหวัดภาคไต้

“ตรงนี้จะทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ของประชาชนทั้งสังคมที่จะทำให้ประชาชนมีความสงบสุข มีการมีงาน มีโอกาส มีฐานะที่ดี ทั่วประเทศมีระบบคมนาคมที่สะดวกให้พี่น้องประชาชนที่จะให้ภาคไต้เป็นด้ามขวานที่ทำด้วยทอง ไม่ใช่แค่ปิดทอง จะต้องเป็นด้ามขวานทองทั้งแท่ง  เชื่อมทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทยได้ ออกไปทะเลจีนไต้ได้ ออกประเทศทางตะวันออกได้ จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพมีความได้เปรียบและมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นอันมาก ด้วยภูมิศาสตร์ของเราที่ได้เปรียบในหลาย ๆ ประเทศ ที่ภูมิใจไทยจะเร่งปฏิบัติให้เกิดขึ้นทันที สร้างโอกาส สร้างเศรษฐกิจให้กับบ้านเมืองของเรา” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจจะเจาะไข่แดงประชาธิปัตย์ จ.ตรัง ได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เราได้เจาะไข่แดงประชาธิปัตย์ไปเรียบร้อยแล้ว เจาะไป 4 ปีแล้ว เราไม่คิดว่าเรามาแข่งกับใคร เรามาเสนอตัว เราเอาคนทำงานมาทำงานให้แก่พี่น้อง เราไปอยู่ในพื้นที่ภาคไหนจะเอาคนที่คุ้นเคยกับพื้นที่ภาคนั้นมาทำงานให้ ในกรณีอย่างภาคไต้เราก็ได้นายพิพัฒน์ นางนาที รัชกิจปราการ นายอารีย์ ไกรนรา มาเป็นขุนพลของพรรคภูมิใจไทยที่ทำให้ภาคไต้ได้มีการขยายตัวในเรื่องของจำนวน ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย เพื่อที่เราจะได้ทำประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนในเขตจังหวัดภาคไต้ทุกจังหวัด เราคาดหวังด้วยนโยบายของพรรคภูมิใจไทยตลอดจนความขยันขันแข็งความตั้งใจของผู้สมัครทุกคน เราก็คาดหวังทุกพื้นที่

ด้านนางนาที กล่าวว่า หวังเจาะพื้นที่ไข่แดงประชาธิปัตย์ใน จ.ตรัง 2 ที่นั่ง

Submitted by torn on 18 ก.พ. 2566 13:47

เลขาธิการ ศอ.บต. ยันพร้อมดูแลนักกีฬา และนักท่องเที่ยวให้ปลอดเหตุ-ปลอดภัย ช่วงกิจกรรมวิ่งเทรล Amazean Jungle Thailand by UTMB 2023 ตั้งจุดเช็กพอยท์ 14 จุด ลาดตระเวนตลอด 24 ชม.

วันนี้ (18 ก.พ. 66) พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วย ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง และ น.ส.ปิยฉัตร กุลรักษา นายด่านศุลกากรเบตง และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ตรวจเยี่ยมความพร้อมการรองรับนักท่องเที่ยวและนักกีฬา ณ ด่านพรมแดนเบตง จ.ยะลา พร้อมตรวจเยี่ยมการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ตลอดเส้นทางวิ่งเทรล ในกิจกรรม Amazean Jungle Thailand by UTMB 2023

เลขาธิการ ศอ.บต. ยืนยันว่า หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ พร้อมด้วยจังหวัดยะลา อำเภอเบตง ได้ระดมสรรพกำลังทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ เข้าดูแลเส้นทางวิ่งสายหลักในระยะ 160 กิโลเมตร 50 กิโลเมตร และ 25 กิโลเมตร มีจุดเช็กพอยท์หลัก 14 จุด และมีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง โดยยืนยันว่าพื้นที่พร้อมดูแลนักกีฬาจาก 30 ประเทศ กว่า 1,600 คน และนักกีฬาที่ลงทะเบียนวิ่ง saturday night run กว่า 2,000 คนอย่างเต็มกำลัง

นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง กล่าวว่า การดูแลความปลอดภัยในช่วงการจัดกิจกรรมฯ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ 1 การให้บริการบุคคลที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะทางด่านพรมแดนเบตง ส่วนที่ 2 ได้จัดตั้งกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย โดยบูรณาการกำลังทุกภาคส่วน ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในการช่วยกันดูแลความปลอดภัย มีการลาดตระเวน และยุทธวิธีต่างๆ ผนวกกับแผนของหน่วยเฉพาะกิจจังหวัด และทุกภาคส่วน ซึ่งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการทำให้พื้นที่ปลอดเหตุ ประชาชนปลอดภัย

ด้านรองโฆษกของรัฐบาล เผยว่า รัฐบาลโดยนโยบายนายกรัฐมนตรี ผลักดันการท่องเที่ยวในประเทศ สำหรับ อ.เบตง ผลักดันโดยใช้ซอฟเพาเวอร์ด้านกีฬา เป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ โดยมั่นใจได้ว่าพื้นที่ จ.ยะลา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสงบสุข และปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวแน่นอน

ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบพาสปอร์ต เผยว่า ในวันที่ 16-17 ก.พ. 2566 มีนักท่องเที่ยว และนักกีฬาเดินทางเข้าและออก ทางด่านพรมแดนเบตง จ.ยะลา ตลอดทั้งวันกว่า 2,000 คน และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว และนักกีฬาเข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม จากการจัดกิจกรรม Amazean Jungle Thailand by UTMB 2023 ส่งผลให้ด่านพรมแดนเบตง และ อ.เบตง คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ซึ่งเป็นโอกาสดีของชาวเบตงในการนำเสนอบ้านเมืองด้วยอัตลักษณ์ ประเพณี และความสวยงามของพื้นที่

Submitted by sorawit on 25 ม.ค. 2566 18:36

ตำรวจสิเกาจับบุหรี่เถื่อน เจ้าของอ้างจ่ายให้นายตำรวจระดับ พ.ต.ท.ใน สภ.สิเกาแล้ว แต่ติดต่อไม่ได้ โวยกักขังหน่วยเหนี่ยวคนขับรถ 6 ชั่วโมง ไม่ให้ติดต่อกับนายจ้าง เรียกค่าประกันตัวคนขับสูงคนละ 150,000 บาท

วานนี้ (24 ม.ค.) เวลา 20.30 น. ตำรวจภายใต้การนำของ พ.ต.อ.อิศรพงศ์ จินา ผกก.สภ.สิเกา จ.ตรัง ได้ตั้งด่านตรวจในพื้นที่ ต.กะลาเส อ.สิเกา เนื่องจากสายสืบได้แจ้งว่า จะมีพ่อค้านำบุหรี่หลบหนีภาษีผ่านในพื้นที่ ซึ่งได้จับกุมรถต้องสงสัยได้ 2 คัน เป็นรถกระบะสีขาว ตู้ทึบ หมายเลขทะเบียน 3 ฒก 4370 กรุงเทพ ภายในมีบุหรี่หนีภาษี ยี่ห้อโกล รวม 50 ลัง ส่วนรถอีกคันเป็นรถเก๋งโตโยต้าแคมรี่ หมายเลขทะเบียน 8 กญ.6027 กรุงเทพ สีขาว จึงควบคุมตัวผู้ขับขี่ และผู้อยู่ในรถทั้ง 2 คัน จำนวน 3 คน ได้แก่ 1.นายทีเทพ แซ่ฟู้ 2.นายอับดุลบากี ตามูซอ และ 3.นายปรัศถกรณ์ อัครมณี ซึ่งรับว่ารับจ้างนายแมนไม่ทราบนามสกุล นำบุหรี่ทั้งหมดไปส่งให้ร้านค้าที่ จ.ภูเก็ต ในราคา 5,000 บาท และจากการตรวจปัสสาวะพบว่า 2 ใน 3 คน มีฉี่ม่วง

ต่อมา ได้มีบุคคล อ้างว่าเป็นเจ้าของสินค้าดังกล่าว ได้ร้องต่อผู้สื่อข่าวว่า การจับกุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทำเกินเหตุ โดยหลังจากที่ยึดรถยนต์และสินค้า มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ต้องหาเป็นเวลา 6 ชั่วโมง โดยไม่ยอมให้ติดต่อกับทางบ้าน ยอมรับว่าเป็นเจ้าของสินค้าจริง แต่ได้จ่ายเงินให้ตำรวจระดับ พ.ต.ท.ผู้หนึ่งใน สภ.กิเกา ทุกเดือนๆ ละ 5,000 บาท มีหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็น ”นอมินี” และในการขอประกันผู้ต้องหามีการเรียกเงินประกันคนละ 150,000 บาท ซึ่งเหมือนเป็นการกลั่นแกล้ง และที่สำคัญ หลังเกิดเหตุ นายตำรวจที่รับเงินทุกเดือน ไม่ยอมรับโทรศัพท์ ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

Submitted by sorawit on 25 ม.ค. 2566 15:05

ปชป.ยันไม่ทิ้งประชาชนชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แม้มี ส.ส.เพียงคนเดียวในพื้นที่นี้ ยังคงมีนโยบายทุ่มเทการพัฒนาพื้นที่ ผลักดันโครงการต่างๆ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนสันติภาพสู่สันติสุข

วันนี้ (25 ม.ค.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างดี และวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ให้การดูแลประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเข้าไปทำมาหากินในประเทศมาเลเซีย เช่น ชมรมต้มยำกุ้ง ที่มีปัญหาต่างๆ รวมทั้ง ผลักดันโครงการพัฒนา โดยผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งจะใช้เป็นนโยบาย ที่ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนสันติภาพสู่สันติสุข นอกจากนั้น ในการพบปะประชาชนของผู้สมัครของพรรคใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเน้นการเข้าใจ-เข้าถึง ทุกปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องและต้องการให้มีการแก้ไข

"พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยทอดทิ้งพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าบางสมัย เราไม่มี ส.ส.ในพื้นที่ ประชาธิปัตย์ก็มีการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้พี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์มี ส.ส.คนเดียวในเขต 1 จ.ปัตตานี แต่ประชาธิปัตย์ก็ทุ่มเทการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเต็มที่ ทั้งการส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาการค้าชายแดน แก้ปัญหาที่ดินทำกิน แจกโฉนดที่ดินให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ประชาธิปัตย์เข้าใจปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่เคยทิ้งพี่น้องชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้" นายนิพนธ์ กล่าว

Submitted by sorawit on 20 ม.ค. 2566 16:56

"เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้" ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ 4 ข้อ ทั้งให้กำหนดนโยบายที่ชัดเจน ให้นายกฯ สั่งการเร่งช่วยเหลือ แก้ปัญหาทั้งระยะสั้น-ระยะยาว ให้กระทรวงยุติธรรมปฏิรูปกระบวนการรับฟังพยานหลักฐาน-การพิจารณาคดีในศาลเปิดกว้างและมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน

วานนี้ (19 ม.ค.) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้รัฐเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล โดยระบุว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ซึ่งเกิดจากการร่วมกันของนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา ภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนในภาคใต้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้

1.ให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิทธิที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในภาคใต้ตามแนวทางการถือครองสิทธิในที่ดินในรูปแบบของโฉนดชุมชน ให้ชุมชนชาวเลเป็นเจ้าของร่วมกันเพื่อลดปัญหาการถูกรุกรานจากนายทุนในการกว้านซื้อที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง “แนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล”

2.ให้นายกรัฐมนตรีมีหนังสือสั่งการถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะและพื้นที่สาธารณะภายในเกาะ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนโดยกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

มาตรการระยะสั้น กรณีพื้นที่สาธารณะ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เร่งดำเนินการสอบสวน ตรวจสอบการบุกรุกให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน หากมีการบุกรุกที่ทางสาธารณะ ให้ดำเนินการเร่งแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ และหากไม่ปฏิบัติตามให้ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตลอดจนหาแนวทางในการยุติความขัดแย้งและเปิดทางสาธารณะให้ชาวเล ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยว ได้สัญจรภายในเกาะหลีเป๊ะจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ

กรณีปัญหาสิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัยของชาวเล ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงยุติธรรม องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ดำเนินการตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ เพื่อตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะโดยมีองค์ประกอบที่มาจากกรรมการที่เคยดำเนินการในอดีต เพื่อความต่อเนื่องของการดำเนินการและแต่งตั้งคณะกรรมการที่จำเป็นแก่การพิสูจน์พยานหลักฐานทั้งในมิติทางกฎหมาย สังคมและวัฒนธรรม และด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการพิสูจน์สิทธิของชาวเล ตลอดจนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไข เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยกำหนดระยะเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน

มาตรการระยะยาว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการส่งเสริมและฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวเล พร้อมกับเปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อให้ชาวเลใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไทยได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนกำหนดนโยบายการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวเล เพื่อให้ชุมชนและนักท่องเที่ยวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

3.ให้กระทรวงยุติธรรมปฏิรูประบบกระบวนการรับฟังพยานหลักฐานและการพิจารณาคดีในศาลเปิดกว้างและมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับคดีที่มีผลกระทบต่อกลุ่มเปาะบาง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และกำหนดแนวทางให้การพิจารณาคดีให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก เช่น การกำหนดให้ต้องเดินเผชิญสืบในพื้นที่ที่พิพาท เพื่อลดค่าใช้จ่ายหลักและค่าใช้จ่ายแฝงในการต่อสู้คดีของประชาชนที่ต้องแบกรับในกระบวนการยุติธรรม อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย

และ 4.ในระหว่างการดำเนินการ ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรมกรมคุ้มครองสิทธิฯ กองทุนยุติธรรม หน่วยสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ปกป้องคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมแก่ชาวเลหลีเป๊ะอย่างเร่งด่วน

การออกแถลงการณ์ดังกล่าว สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ปัญหาเรื่องที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นข้อถกเถียงในสังคมอีกครั้ง หลังจากมีการเชื่อมเหล็กปิดกั้นเส้นทางสัญจรอันเป็นทางสาธารณะของชุมชนที่ใช้ร่วมกันมามากกว่า 100 ปี จนทำให้นักเรียนเดินเข้าโรงเรียนไม่ได้ อีกทั้งยังทำให้ชาวเลและประชาชนทั่วไปใช้เส้นทางสัญจรไปที่ต่างๆ ไม่ได้ ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ สุสานชาวเล เส้นทางแห่พิธีกรรมในประเพณีลอยเรือ เส้นทางออกสู่ทะเลเพื่อประกอบอาชีพและทางเดินของนักท่องเที่ยว โดยปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนและนักท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะ และทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย

แถลงการณ์ ยังระบุอีกว่า ปัญหาเรื่องที่ดินของชาวเลอูรักลาโว้ยดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรรม ในการมีสิทธิในที่ดินของชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ว่า เพราะเหตุใดพวกเขาเหล่านี้ยังคงถูกละเมิดสิทธิและต้องออกมาเรียกร้องสิทธิในที่ดิน ทั้งที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในภาคใต้โดยส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่อาศัยมาก่อนการเกิดขึ้นของกฎหมายในประเทศไทย ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมามากกว่า 30 ปี กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในภาคใต้หลายจังหวัด ทั้งภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงาและสตูล ได้พยายามเรียกร้องและติดตาม กระตุ้นให้รัฐดำเนินการแก้ไขปัญญาสิทธิในที่ดินมาโดยตลอด แต่ปัญหาดังกล่าวกลับยังไม่ถูกคลี่คลาย ในขณะที่ชาวเลยังคงต้องทนอยู่กับสภาวะไร้ซึ่งสิทธิในที่ดิน ที่ตนเป็นผู้บุกเบิกและอาศัยอยู่มาหลายชั่วอายุคน โดยที่ไม่รู้ว่าจะถูกฟ้องดำเนินคดีเมื่อใด ดังเช่นกรณีของชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ

ในอดีตชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ เคยเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและแก้ไขการออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2533 ตามหนังสือ มท 0100/6411 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2533 พบว่า เมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ราษฎรบนเกาะหลีเป๊ะมีการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) และออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส. 3) จำนวน 17 แปลง แต่เนื่องจากกรมที่ดินตรวจสอบพบความผิดปกติในกระบวนการออก น.ส. 3 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 12 แปลง และควรมีการเพิกถอน อีกทั้งการทำแผนที่แนวเขตที่ดินของกรรมการชุดต่างๆ พบว่าที่ดินบางแปลงซ้อนทับกัน และที่ดินเกือบทุกแปลงออกทับ เส้นทางสาธารณะ ทางน้ำสาธารณะทั่วทั้งเกาะหลีเป๊ะ

ทั้งนี้ จากรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อปี 2547 เรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินกรณีเกาะหลีเป๊ะ ได้มีการเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาต่อกระทรวงมหาดไทย ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3) บนเกาะหลีเป๊ะที่ออกโดยมิชอบ โดยให้ดำเนินการภายใน 6 เดือน นับแต่ได้รับรายงานฉบับดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันปัญหาเรื่องที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ซ้ำร้ายชาวเลหลายคนยังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีขับไล่ออกจากที่ดินและพื้นที่สาธารณะบนเกาะหลีเป๊ะ ยังถูกปิดกั้นไม่ให้ใช้ประโยชน์ รวมถึงมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับพื้นที่ดังกล่าว จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วทั้งเกาะหลีเป๊ะ

จากปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าในกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินของรัฐต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลภาคใต้ที่ทำให้ชาวเลต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนจากรุ่นสู่รุ่น

58 items(1/6) 2 3 4 5 Next » Last »|