The Agenda South

รู้ทั้งรู้ว่าที่ดินสีเขียว แต่ทำไมยังซื้อมาสร้างโรงงาน!?

by Little Bear @15 ต.ค. 2563 18:22 ( IP : 171...68 ) | Tags : วาระภาคใต้
photo  , 600x400 pixel , 571,283 bytes.

หลังจากที่โรงงานประกอบชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ของบริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศย้ายโรงงานไปที่แหลมฉบัง ด้วยเหตุผลว่าถูก “ลอยแพ” จนสูญเสียไปกว่า 400 ล้านบาทนั้น

หลายต่อหลายคนต่างตั้งคำถามถึงประเด็นต่างๆ ที่บริษัทยกขึ้นมาเป็นเหตุผล โดยเฉพาะเรื่องการที่ ศอ.บต.ไม่ยอมเปลี่ยนผังเมืองในที่ดินจำนวน 211 ไร่ ที่บริษัทซื้อไว้เพื่อขยายโรงงาน จากสีเขียว ที่หมายถึงเป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม มาเป็นสีม่วง ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม ทั้งๆ ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ก็ยังเปลี่ยนให้ได้ บางคนก็สงสัยว่า ในเมื่อเป็นที่ดินที่ตั้งโรงงานไม่ได้ แล้วบริษัทเสียเงินมากมายไปซื้อมาทำไม

หนึ่งในผู้บริหาร บริษัทซูเพิร์บฯ ไขปริศนาข้อนี้ว่า ก่อนตัดสินใจจะซื้อได้ตรวจสอบที่ดินดังกล่าวแล้ว พบว่า เป็นพื้นที่สีเขียวแถบขาว หมายถึงเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม จึงไปปรึกษากับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของ จ.ปัตตานี

“เขาก็บอกว่าซื้อได้ เดี๋ยวจะดำเนินการเปลี่ยนผังเมืองจากเขียวให้เป็นม่วง รวมทั้ง ศอ.บต.ก็รับที่จะดำเนินการ จนถึงทุกวันนี้ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เลย” หนึ่งในผู้บริหาร บริษัทซูเพิร์บฯ กล่าว

ก่อนหน้าที่จะมาซื้อที่ดินผืนนี้ ผู้บริหาร บริษัทซูเพิร์บฯ รายนี้ บอกว่า เริ่มแรก บริษัทรับเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐจะอำนวยความสะดวกให้ บริษัทจึงมาเช่าศูนย์ฝึกอาชีพดอนมอสโกเพื่อสร้างโรงงาน จากนั้น พื้นที่เต็มจึงต้องการหาพื้นที่เพิ่ม เพื่อขยายโรงงาน หน่วยงานรัฐจึงเสนอให้ไปดูที่โรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร OTOP ฮาลาล ซึ่งปลูกสร้างบนที่สาธารณประโยชน์ทุ่งนเรนทร์ ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่ร้าง

“บริษัทก็พอใจที่จะใช้เป็นสถานที่เพื่อขยายกิจการ แต่ก็ติดข้อกฎหมาย เพราะเป็นที่สาธารณะ จะให้เอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ จึงต้องรอการแก้ไขในกฎหมาย แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า”

เขาบอกอีกว่า เมื่อเช่าโรงงานดังกล่าวไม่ได้ บริษัทจึงหาพื้นที่ที่เหมาะสม มีนายหน้าเข้ามาติดต่อเสนอที่ดินในราคาประมาณไร่ละ 2 แสนกว่าบาท จึงไปดูพื้นที่และตกลงซื้อขาย จากนั้น สักพัก นายหน้าขอขยับราคาขึ้นเป็นไร่ละ 4 แสนกว่าบาท บริษัทก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อไปดูอีกครั้ง ได้รับแจ้งว่า เป็นคนละแปลงกับที่ดินเดิมที่เคยมาดูครั้งแรก มีสภาพเป็นบ่อกุ้งร้าง บริษัทจึงปฏิเสธไม่ซื้อ เพราะทำเลไม่ค่อยดี

ด้าน ศอ.บต. หนึ่งในคู่กรณีหลัก ชี้แจงถึงเรื่องนี้ โดยเป็นชี้แจงจากเจ้าหน้าที่รายหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ว่า ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบได้หยิบยกเรื่องการเปลี่ยนผังเมืองในที่ดินแปลงนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 เพื่อขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งรัดดำเนินการตามที่ภาคเอกชนร้องขอแล้ว

“จังหวัดปัตตานีเองไม่ได้นิ่งนอนใจในการทำงาน เพียงแต่การทำงานนั้นจะต้องใช้ความรอบคอบอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่รอบนอกเป็นพื้นที่รับน้ำของ จ.ปัตตานี หากการดำเนินการไม่รอบคอบก็จะกระทบต่อประชาชนในเขตพื้นที่อย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และทั้งหมดต้องเป็นไปตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงานที่กำหนดไว้เป็นขั้นเป็นตอน”

เจ้าหน้าที่ ศอ.บต.คนดังกล่าว ยังชี้แจงอีกว่า แต่สาเหตุสำคัญที่ต้องชี้แจงสร้างความเข้าใจกันก็คือ ใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมผสมผสานนั้น มีพื้นที่ที่รองรับการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาล ที่เปลี่ยนเป็นสีม่วงเพื่อรองรับการลงทุนอยู่แล้ว ตั้งแต่เริ่มแรกประกาศนโยบายออกมาแล้ว จำนวนกว่า 3 พันไร่เศษ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ที่เกิดจากการเจรจาธุรกิจของเอกชน หรือเงื่อนไขอื่นใดที่แทรกแซงการทำงานเข้ามาก็ดี ทำให้บรรลุข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ เป็นผลทำให้บริษัทซูเพิร์บฯ ต้องไปซื้อที่ดินสีเขียว

อย่างไรก็ตาม คนในพื้นที่เขาตั้งข้อสังเกตกันว่า การที่บริษัทซูเพิร์บฯ ไม่ยอมไปซื้อที่ดิน โซนที่ดินสีม่วง ที่รัฐจัดเตรียมไว้แล้วกว่า 3,000 ไร่นั้น น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องตามมา จนสีเขียวไม่เปลี่ยนเป็นสีม่วง แบบที่จะนะก็ยังเปลี่ยนได้

พนักงานหลายคนของโรงงานนี้ยังพูดกันเลยว่า “โรงงานที่หนองจิกนี่มีแต่เรื่องดีๆ ทุกด้าน คนละเรื่องกับโรงงานที่ อ.จะนะ จ.สงขลาเลย ที่นั่นชาวบ้านไม่ต้องการ ศอ.บต.กลับปิดตาจะทำให้ได้ แล้วมันแปลว่าอะไรแบบนี้”

#โรงงานเฟอร์นิเจอร์ย้าย #ปัตตานี #ศอบต

Relate topics