The Agenda South

ฤๅ “คดีตากใบ” ไม่ต่างจากเอาเบนซินไปราดดับไฟใต้?!

by sorawit @21 ต.ค. 2567 13:15 ( IP : 171...172 ) | Tags : ทัศนะ - สนทนา
photo  , 1080x1080 pixel , 145,402 bytes.

ทัศนะ : ไชยยงค์ มณีพิลึก

อีกไม่กี่วันจะครบ 20 ปี  “คดีตากใบ” ที่เกิดเหตุการณ์ตายหมู่ของประชาชน ซึ่งไปร่วมชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ.จ.นราธิวาส ตามการปลุกระดมของบีอาร์เอ็นในขณะนั้น ที่มี “สะแปอิง บาซอ” เป็นผู้นำ ในฐานะประธานขบวนการแบ่งแยกดินแดนดังกล่าว

ดังนั้น กรณีการเสียชีวิตของประชาชนที่ไปชุมนุมปิดล้อม สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จึง “ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ” แต่เป็นส่วนหนึ่งของ “แผนการ” ที่ถูกวางไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เกิดความสูญเสียภายใต้ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งบีอาร์เอ็นวางแผนไว้แล้ว

แม้แต่การให้ “ครอบครัวผู้สูญเสีย” เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอาญาต่อ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสก่อนคดีจะหมดอายุความ นั่นก็เป็นการ “วางแผน” ไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเช่นกัน เพื่อเป็น “เงื่อนไขใหม่” ของปัญหาไฟใต้

“แกนนำ” ปีกทางการเมืองบีอาร์เอ็นในพื้นที่ วิเคราะห์สถานการณ์หลังศาลออกหมายจับ “อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูง” ที่มีทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือนไว้ว่า ผู้ตกเป็นจำเลยต้อง “หลบหนี” โดยไม่มีใครไปรายงานตัวต่อศาลจังหวัดนราธิวาสสักรายอย่างแน่นอน

เพราะ “กฎหมายเปิดช่อง” ให้ผู้ตกเป็นจำเลย “หลุดรอด” คดีได้ด้วยการหลบหนีไปจนถึง “เที่ยงคืน” ของวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 20 ปีพอดิบพอดีนับจากวันเกิดเหตุคดีตากใบคือ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ถือว่า คดีหมดอายุความ

ถ้าเราติดตามสถานการณ์ชายแดนใต้อย่างใกล้จริงจังจะพบว่า ก่อนคดีตากใบหมดอายุความ 15 วัน แกนนำปีกการเมืองและทางทหารของบีอาร์เอ็นมีการประสานงานกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จึงได้เห็นการก่อเหตุความรุนแรงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ อาศัย “ช่องโหว่” และ “การข่าวที่ล้มเหลว” ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ขณะที่ “แนวร่วม” บีอาร์เอ็นกลับมีการข่าวที่แม่นยำ เพราะมี “หนอนบ่อนไส้” แฝงตัวอยู่ในแทบจะทุกหน่วยงานคอยส่งข่าวให้ “กองกำลังติดอาวุธ” ก่อวินาศกรรม หรือโจมตีแบบหวังผลและแบบฉาบฉวย

นอกจากนี้ ปีกทางการเมืองบีอาร์เอ็นยังใช้วิธีการจัดกิจกรรมทั้งในชายแดนใต้และที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการย้อนรำลึกอดีตคดีตากใบเพื่อ “รื้อฟื้นบาดแผล” โดยทุกกิจกรรมต่างมุ่งเน้นเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวของผู้สูญเสีย

รวมถึงเรียกร้องให้จำเลย “รับผิดชอบ” ด้วยการมอบตัวสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม และจี้ต้องให้ “รัฐบาล” นำตัวจำเลยทั้งหมดมาขึ้นศาลให้ทันก่อนหมดอายุความ ซึ่งต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนครั้งนี้ของทุกกลุ่มไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องของ “ความยุติธรรม” เพียงประเด็นเดียว

ทว่ายังมีสิ่ง “แอบแฝง” อยู่ด้วย เช่น บีอาร์เอ็นต้องการใช้คดีตากใบเพิ่มเป็น “เงื่อนไข” สู่การก่อความไม่สงบ พร้อมกล่าวหา “รัฐไทย” และ “รัฐบาล” รวมถึง “หน่วยงานความมั่นคง” ว่า ไม่จริงใจกับการแก้ปัญหาไฟใต้ มีแต่จะปกป้องเจ้าหน้าที่ให้รอดพ้นจากบ่วงคดีเสียเท่านั้น

เชื่อว่าหลัง 25 ตุลาคม 2567 เมื่อจำเลยทุกคนพ้นผิด เพราะคดีขาดอายุความ เราก็จะเห็นบีอาร์เอ็นใช้ “เงื่อนไขใหม่” ขับเคลื่อนงานทุกด้านทั้งมวลชน การเมืองและการทหาร โดยหยิบเอา “ความอยุติธรรม” มาอ้าง ซึ่งเชื่อว่ามีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไว้แล้ว

สัปดาห์แล้ว “ดุลเลาะ แวมะนอ” อดีต ผบ.ฝ่ายกองกำลังบีอาร์เอ็น ในฐานะผู้นำใน “สภาซูรอ” ได้ประชุมกับระดับแกนนำและแนวร่วมบีอาร์เอ็นเพื่อเตรียมขับเคลื่อนงานด้านศาสนาและมวลชน ซึ่งถึงวันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ารับรู้แล้วหรือยังและมีการเตรียมรับมือไว้อย่างไร

ในส่วนของ “ฝ่ายการเมือง” ก็มีการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัวผู้สูญเสีย ซึ่งทั้งหมดได้รับการเยียวยาไปแล้ว นี่ถือเป็นอีกการฉกฉวยประโยชน์ทางการเมือง โดยใช้เงื่อนไขของ “คดีตากใบ” ในการทำลายพรรคการเมืองคู่แข่ง

ไม่เพียงเท่านั้นยังมี “บางองค์กร” ในพื้นที่ชายแดนใต้ฉวยเอาคดีตากใบไปเล่มเกมการเมือง อาทิ จัดกิจกรรมทางการเมืองเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความชอบธรรมให้แก่องค์กรตัวเอง ขณะเดียวกันก็พยายามพุ่งเป้าไปโจมตีหน่วยงานรัฐ

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การออกมาเคลื่อนไหวของทุกกลุ่มที่มีการหยิบยกเอาคดีตากใบเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เบื้องหน้าคือการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัวผู้ที่สูญเสีย แต่เบื้องหลังล้วนมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับ “สื่อมวลชน” หลายสำนักที่ให้ความสำคัญกับคดีตากใบ ซึ่งมักจะหยิบความสูญเสียของผู้ที่ร่วมไปชุมนุมมานำเสนอแบบ “ด้านเดียว” แต่ไม่พยายามให้ความความสำคัญกับประเด็นที่บีอาร์เอ็นมีการวางแผนให้เกิดการชุมนุมประท้วง รวมถึงขัดขวางการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่

ดังนั้น หากจะกล่าวว่า “สื่อหลายสำนัก” ได้กลายเป็น “เครื่องมือ” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนไปแล้วอย่างเต็มใจ ซึ่งนั่นก็อาจจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริงก็เป็นได้

โดยเฉพาะไม่มีการนำเสนอเบื้องหลังการนำเอาคนจากทั้ง “48 ครอบครัว” มาเป็นโจทก์ในการฟ้องร้องทางอาญาต่อ “7 เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง” ว่า มีความเป็นมาอย่างไร องค์กรหรือหน่วยงานไหนวางแผนไปเกลี้ยกล่อมมา ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนแต่มีเบื้องหลัง แต่กลับไม่มีการระบุถึงทั้งสิ้น

ทำไมสื่อมวลชนจึงละเลยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ทำไมอีกกว่า “40 ครอบครัวผู้สูญเสีย” จึงไม่ยอมมาร่วมเป็นโจทย์ยื่นฟ้องร้องคดีอาญากับอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงครั้งนี้ ประเด็นนี้อาจจะมี “ข้อตกลง” ก่อนมี “การเยียวยา” ครอบครัวผู้เสียชีวิตศพละ 7.5 ล้านบาทหรือไม่ ทำไมไม่มีการเปิดเผยให้สังคมได้รับทราบ

ร่วมถึงการที่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ “ยุติการดำเนินคดีแนวร่วม” ที่ปลุกระดมให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงบริเวณหน้า สภ.ตากใบ จำนวน 59 คน  เพื่อหวังให้เกิดความปรองดอง เรื่องนี้ก็ไม่มีสำนักข่าวไหนให้ความสนใจนำเสนอว่า นี่คือ “เงื่อนไขสำคัญคดีตากใบ” ก่อนที่จะมีการเยียวยาเกิดขึ้น

การรื้อฟื้นคดีตากใบต้องถือจึงเป็น “ชัยชนะของบีอาร์เอ็น” โดยมี “รัฐไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้” และนับแต่นี้ไปคดีตากใบจะเป็น “เงื่อนไขใหม่” ที่ถูกนำไป “เติมเชื้อไฟแค้น” ให้แก่พี่น้องมุสลิมทั้งในพื้นที่และทั่วโลก เพื่อที่บีอาร์เอ็นจะได้นำไปใช้อ้างเพื่อตอบโต้ “อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม”

ก็ต้องติดตามดูกันว่าหลังวันที่ 25 ตุลาคม 2567 “รัฐบาลเพื่อไทย” และ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้กำอำนาจตัวจริงจะตัดสินใจอย่างไรต่อไปกับปัญหาไฟใต้

จะประกาศให้บีอาร์เอ็นเป็น “องค์การก่อการร้าย” เพื่อที่จะใช้ “กำปั้นเหล็ก” แก้ปัญหาเหมือนครั้งที่ “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร” เคยปฏิบัติมาก่อน

หรือจะใช้ “ถุงมือกำมะหยี่” แก้ไขด้วยการเจรจาสันติภาพในรูปแบบใหม่กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน นี่คือสิ่งที่สังคมไทยที่ต้องติดตามใกล้ชิด
แต่ที่แน่ๆ หลังวันที่ 25 ตุลาคม 2567 สถานการณ์ไฟใต้จัดอยู่ใน “โซนอันตราย” ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้อง “สำเหนียก” และต้องมี “ยุทธศาสตร์” และ “ยุทธวิธี” ในการรับมือให้ได้

Relate topics