The Agenda South

จากอดีตเมือง “ซิงกอรา” สู่ปัจจุบัน “วันสงขลา” 10 มีนาคมของทุกปี

photo  , 960x960 pixel , 114,775 bytes.

ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สำนักศิลปากรที่ 11 ตรวจสอบพบ “กลุ่มนายทุน” ลักลอบนำเครื่องจักรขุดทำลายบริเวณเขาแดง เป็นพื้นที่ที่กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน บริเวณเมืองเก่าสงขลา ตั้งอยู่ใน ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา ได้รับความเสียหาย โดยมีการโค่นล้มต้นไม้ และตัดถนนเป็นทางยาวขึ้นเขาประมาณ 2 กิโลเมตร กว้าง 4 เมตร และยังมีฐานองค์เจดีย์บนเขาแดงชำรุดเสียหายบางส่วน

“เขาแดง” ทำไมต้องเป็นเขาแดง? หลายคนสงสัย “เขาแดง” หรือชื่ออื่นๆ เช่น เขาค่ายม่วง เขานกรำ และเขาตะเข้ เป็นชื่อเรียกของภูเขาสำคัญในพื้นที่ปากอ่าวสงขลา อ.สิงหนคร จ.สงขลา (ภูเขาด้านหลังท่าแพขนานยนต์ฝั่ง ต.หัวเขา กับเมืองสงขลา) เขาลูกนี้มีโครงสร้างประกอบด้วยหินทราย หินทรายแป้ง และหินดินดาน จะมีสีแดงเป็นหลัก ผู้คนจึงเรียกว่า “เขาแดง” ส่วนชื่อเขาค่ายม่วงนั้น ปรากฏในเอกสารกัลปนาสมัยกรุงศรีอยุธยา ปี 2158 ส่วนชื่อเขานกรำ และเขาตะเข้นั้น ก็ปรากฏในเอกสารชีวิวัฒน์เรื่องเที่ยวที่ต่างๆ ภาค 7 เขียนขึ้นในปี 2427

“เขาแดง” เป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างกำแพงเมืองใหม่ และยังเป็นที่ตั้งของเจดีย์องค์ดำ องค์ขาว อนุสรณ์แห่งชัยชนะในการรักษาขอบขัณฑสีมา ซึ่งสร้างโดยสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ และสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงอาจกล่าวได้ว่า “เขาแดง” คือจุดกำเนิดของเมืองสงขลา และอยู่เคียงข้างกับชาวสงขลามาจนปัจจุบัน

ด้วยคุณค่าและความสำคัญดังกล่าว กรมศิลปากรจึงได้ประกาศขึ้นทะเบียน และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเขาแดง และโบราณสถานโดยรอบ ในชื่อ “โบราณสถานบริเวณเมืองเก่าสงขลา” ในปี 2535 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,460 ไร่

ในปลายรัชกาล สมเด็จพระเอกาทศรถ แห่งกรุงศรีอยุธยา มีชายผู้หนึ่งขอพระบรมราชานุญาต สร้างเมืองขึ้นที่ปากอ่าวสงขลา ให้ชื่อเมืองใหม่นี้ว่า “ซิงกอรา” (Singora) โดยเอกสารชาวฮอลันดา ระบุว่า “ดาโต๊ะโมกอลส์” และกล่าวว่า ผู้ปกครองเมืองแห่งนี้ มีฐานะเป็นข้าหลวงของพระเจ้ากรุงสยาม

“ดาโต๊ะโมกอลส์” สร้างเมืองซิงกอราให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ มีการสร้างกำแพง และป้อมสำหรับป้องกันที่หัวเขาแดงอย่างแข็งแรง จนกระทั่งปี 2185 สุลัยมาน ผู้ปกครองเมืองซิงกอราต่อจากดาโต๊ะโมกอลส์ ผู้เป็นบิดา ได้ประกาศยุติการส่งบรรณาการแก่กรุงศรีอยุธยา และสถาปนาตนเองขึ้นเป็น “พระเจ้าเมืองสงขลา” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สุลต่านสุลัยมาน”

“ซิงกอรา” ในสมัยนั้น จึงมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และการทหาร โดยมีกำลังทหารรับจ้างที่มีพละกำลัง และเชี่ยวชาญด้านการรบยุทธวิธี และคุ้นกับการใช้ปืนไฟมาก่อน ทั้งเป็นปืนขนาดใหญ่ และปืนเล็กประจำการ จนสามารถยืนหยัดต่อสู้กับกองทัพกรุงศรีอยุธยาได้ถึง 38 ปี

เมื่อซิงกอราพ่ายแพ้ต่อกองทัพอยุธยา ในปี 2223 ชาวเมืองหลังการพ่ายแพ้ได้เคลื่อนย้ายไปสร้างเมืองใหม่ทางทิศใต้เขาแดง บริเวณที่เรียกว่า “แหลมสน” โดยมี พระยาวิไชยคีรี เป็นเจ้าเมือง โดยให้ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พื้นที่ส่วนนี้จึงอยู่ในปกครองของหลวงวิเถียน ภายใต้อำนาจของชุมนุมเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาในปี 2312 สงขลาฝั่งแหลมสน จึงตกอยู่ใต้อำนาจกรุงธนบุรี โดยมีพระสงชลา (โยม) และหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยว แซ่เฮา) เป็นผู้ปกครองตามลำดับ

เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ยังคงอยู่ที่แหลมสน (ปัจจุบันคือแหลมสนอ่อน) จนถึงปี 2379 จึงเริ่มเตรียมการย้ายเมืองไปยังพื้นที่บ่อยาง (ตัวเมืองปัจจุบัน) มีการสร้างกำแพงเมืองใหม่ ปี 2385 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชทานไม้ชัยพฤกษ์สำหรับเสาหลักเมือง

เพราะจุดเริ่มต้นของเมืองสงขลา บ่อยาง ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ เมื่อมีการประกอบพิธีวางเสาหลักเมือง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2385 โดยพระบาทมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเทียนชัย และไม้ชัยพฤกษ์ ให้แก่ พระยาวิเชียรคีรีเถี้ยนเส้ง และให้สมเด็จพระอุดมปิฏก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย พระราชครูอัษฏาจารย์พราหมณ์ เป็นประธานฝ่ายพราหมณ์ ร่วมกันประกอบพิธีวางงเสาหลักเมืองสงขลา ณ ศาลหลักเมืองสงขลา ซึ่งยังคงมีหลักฐานแสดงชัดเจนที่สุดจวบจนทุกวันนี้

จากความสำคัญดังกล่าว ทุกวันที่ 10 มีนาคมของทุกปี จึงกำหนดให้เป็น “วันสงขลา”

Relate topics