“เศรษฐา” จ่อมอบ “ทวี” รับภารกิจดับไฟใต้ ปรับทิศทาง ศอ.บต.

by torn @4 ก.ย. 2566 19:11 ( IP : 124...122 ) | Tags : เคียงข่าว - วิเคราะห์ , วาระภาคใต้
photo  , 1200x1200 pixel , 156,330 bytes.

หากนับเฉพาะสายงานความมั่นคง ไม่เพียงแค่ “รัฐมนตรีกลาโหม” ที่ถูกตั้งคำถามว่า “ผิดฝาผิดตัว” หรือไม่ แต่ “รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง” จะเป็นใคร ดูจะคาดเดายาก ทั้งๆ ที่รองนายกฯคนนี้จะรับผิดชอบภารกิจแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมาร่วม 2 ทศวรรษด้วย และต้นปีหน้าจะเป็นวาระครบรอบ 20 ปีไฟใต้ แต่สถานการณ์ความรุนแรงก็ยังไม่คลี่คลาย แถมโหมกระหน่ำหนักในบางช่วงเวลาเสียด้วยซ้ำ ดังเช่นเหตุโจมตีชุดลาดตระเวนร่วม “ตำรวจ-อส.” ที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อกลางดึกของวันที่ 28 ส.ค.66 ทำให้กำลังพลพลีชีพถึง 4 นาย บาดเจ็บอีกนับสิบ

มีรายงานว่า นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ให้ความสนใจงานดับไฟใต้ไม่น้อย และได้หารือนอกรอบกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งพรรคการเมืองนี้ครองความนิยมสูงสุดในดินแดนปลายด้ามขวาน ได้ สส.มาถึง 7 คนจาก 13 คน เรียกว่าเกินครึ่ง และคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ยังเป็นอันดับ 1 ทุกเขต ทำให้ได้ สส.แบบบัญชีรายชื่อมาเติมอีก 2 คน

แหล่งข่าวในรัฐบาลยืนยันว่า นายกฯ เศรษฐา อาจใช้อำนาจออกคำสั่งมอบหมายงานกำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ให้กับ พ.ต.อ.ทวี รวมทั้งงานด้านการพัฒนาพื้นที่, งานพูดคุยเพื่อสันติสุขกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มจะเปลี่ยนชื่อเป็น “โต๊ะพูดคุยสันติภาพ” แต่งาน กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร นายกฯ เศรษฐา อาจดึงไว้กำกับดูแลเอง

มีรายงานว่า เลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ จะเป็นคนจากส่วนกลางซึ่งมีประสบการณ์สูง ผ่านงานระดับอธิบดีมาหลายกรม โดยตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. อยู่ในระดับ 11 หรือ “ซี 11” เท่ากับปลัดกระทรวง

เล็งปรับภารกิจ ศอ.บต. - ฟื้นสภาที่ปรึกษาฯ

พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยเรื่องนี้ ว่า แผนงานในรายละเอียดต่างๆ คงต้องรอสัญญาณจากนายกฯเศรษฐา แต่หากได้รับผิดชอบกำกับดูแล ศอ.บต. ตนจะปรับภารกิจให้เน้นงานด้านพัฒนาเป็นหลัก แต่ต้องไม่ทำเอง ไม่เป็นหน่วย operation แต่จะเน้นควบคุม กำกับ ดูแล และประสานงานแบบบูรณาการ โดยงานที่จะทิ้งไปไม่ได้คือ “ความยุติธรรม” เพราะเป็นจุดเด่นที่สุดของหน่วยงาน ศอ.บต.

นอกจากนี้ จะมีการรื้อฟื้น “สภาที่ปรึกษา ศอ.บต.” ขึ้นมา เพราะพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. เขียนไว้ดีมาก โดยสภาที่ปรึกษาฯ มีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำศาสนา ตัวแทนคนพุทธ คนมุสลิม รวมไปถึงภาคประชาชน เอ็นจีโอ และนักสิทธิมนุษยชน แต่ที่ผ่านมา คสช.ไปออกคำสั่งปลดสมาชิกสภาที่ปรึกษาชุดเดิม แล้วไปคัดเลือกใหม่ เปลี่ยนโครงสร้างใหม่ โดยให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เข้ามามีบทบาท ทำให้ไม่เป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

ศอ.บต.โดนร้องอื้อ ต้นเหตุแนวคิด “ปรับภารกิจ”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ผ่านมา ศอ.บต.ทำงานด้านการพัฒนา โดยใช้วิธีลงมือทำเอง เปิดประกวดราคา และจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษด้วยตัวเอง ทำให้หลายๆ โครงการมีปัญหาถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส เพราะพื้นที่ชายแดนใต้ใช้การจัดจ้างวิธีพิเศษ ไม่ต้องประกวดราคา ตามข้อยกเว้นของกรมบัญชีกลาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง

การจัดซื้อจัดจ้างหลายๆ โครงการไม่ต้องเปิดประมูล แต่ใช้วิธีจัดจ้างวิธีพิเศษแบบเฉพาะเจาะจง แต่ผลที่ตามมากลับเป็นในด้านลบ เพราะบางโครงการถูกตรวจสอบจากหลายฝ่ายเนื่องจากเข้าข่ายทุจริต ไม่โปร่งใส หรือตัดสินใจทำโครงการโดยไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมเท่าที่ควร

โครงการที่มีปัญหาจนถูกสั่งยุติกลางคันก็เช่น ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ราคาตู้ละกว่า 5 แสนบาท แพงกว่ารถยนต์อีโคคาร์ 1 คันเสียอีก, เสาไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ ”เสาไฟโซลาร์เซลล์” งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท มีการตั้งคณะกรรมการจากส่วนกลางไปตรวจสอบและพบว่ามีปัญหาจริง กระทั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดข้าราชการระดับสูง หรือแม้แต่โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่ ก็มีปัญหาอย่างมาก หลายแห่งไม่มีใครเข้าไปเล่นฟุตซอล กลายเป็นสนามเลี้ยงวัว

ยังไม่นับการผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือ “เมกะโปรเจก” ที่กลายเป็นความขัดแย้งระดับพื้นที่ เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” อ.จะนะ จ.สงขลา ที่มีม็อบบุกทำเนียบรัฐบาลหลายครั้งในห้วงหลายปีที่ผ่านมา

ลุยแก้หนี้-ปฏิรูปคุก-ปราบยา-เจรจาดับไฟใต้

พ.ต.อ.ทวี ยังบอกถึงนโยบายที่จะทำในฐานะ รมว.ยุติธรรมป้ายแดง ว่า ต้องทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะระยะหลังๆ มีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น ขณะเดียวกันก็มีนโยบายแก้ “หนี้ที่ไม่เป็นธรรม” ซึ่งมีคณะกรรมการที่รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่ในกระทรวงยุติธรรม และยังมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง “กรมบังคับคดี” อยู่ในโครงสร้างของกระทรวงด้วย

สำหรับ “หนี้ที่ไม่เป็นธรรม” ซึ่งกำลังมีปัญหาอย่างมาก ก็เช่น หนี้ กยศ. หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ มีผลบังคับใช้แล้ว ให้ลดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ แต่ทาง กยศ.ก็ยังไม่ออกระเบียบมารองรับตามกฎหมายใหม่ ยังคงคิดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับในอัตราเดิม ทำให้ผู้กู้เดือดร้อน ทั้งๆ ที่ผู้กู้เป็นคนขยัน ใฝ่เรียน สมควรสนับสนุน ไม่ใช่ถูกบังคับให้เป็นหนี้

ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ กรมที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุดของกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี บอกว่า มีแผนศึกษาเรื่องแยกกลุ่มผู้ต้องขัง ไม่ให้ขังรวมกันจำนวนมาก โดยไม่แยะประเภทของนักโทษ เช่น ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี คือคดียังไม่เสร็จสิ้น ยังไม่ใช่ “นักโทษเด็ดขาด” กลุ่มนี้ต้องแยกขัง ไม่ควรขังรวมกับนักโทษเด็ดขาด อาจมีโครงการใช้พื้นที่เอกชนเป็นสถานที่คุมขัง ให้นอนรวมกันแค่ 3-4 คน ไม่ใช่นอนกันเป็นร้อยเหมือนในเรือนจำ และมีอาหารให้รับประทาน โดยให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน เพราะตามรัฐธรรมนูญแล้ว คนกลุ่มนี้ยังไม่ถือว่ามีความผิด จึงต้องไม่ปฏิบัติกับเขาเสมือนหนึ่งเป็นผู้กระทำความผิด

อีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในหน้างานของกระทรวงยุติธรรมเช่นกัน ก็คือ งานปราบปรามยาเสพติด เพราะสำนักงาน ป.ป.ส.เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงตาชั่ง พ.ต.อ.ทวี บอกว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องเห็นผลถึงระดับชุมชน หมู่บ้าน ทุกอย่างต้องมีตัวชี้วัดให้ได้ เพราะที่ผ่านมาประชาชนเดือดร้อนมาก และร้องเรียนเข้ามามากว่ายาเสพติดระบาดหนักจริงๆ

นอกจากนั้นยังมีแนวคิด “ยืมตัว” นายตำรวจที่เก่งงานด้านปราบปราม มารับผิดชอบงานที่สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อให้งานปราบยาเสพติดประสบผลสำเร็จมากขึ้นด้วย

ส่วนงานพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้ พ.ต.อ.ทวี ซึ่งเคยเป็นแกนนำคณะพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อปี 2556 ในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บอกว่า ต้องรื้อกระบวนการพูดคุยใหม่ โดยตั้งประเด็นขึ้นมาให้ชัดเลย อาจจะมี 4-5 ประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการบริหารการปกครอง แล้วดึงทุกฝ่ายมาร่วมหารือ เพื่อตกผลึกให้ได้ในแต่ละประเด็น เนื่องจากใช้วิธีพูดคุยภาพรวมเหมือนที่ผ่านมา ไม่มีความคืบหน้า และไม่มีประเด็นไหนที่เห็นผลเป็นรูปธรรมนำร่องได้เลย

Relate topics