หนังตะลุงและมโนราห์ ลิเกป่าและเพลงบอก คือศิลปะวัฒนธรรม ที่ถือเป็นการละเล่นในท้องถิ่น

by sorawit @28 มิ.ย. 2566 10:23 ( IP : 184...81 ) | Tags : วรรณกรรม - ศิลปะ - วัฒนธรรม
photo  , 960x960 pixel , 103,036 bytes.

โดย.. ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล

หนังตะลุงและมโนราห์ ลิเกป่าและเพลงบอก คือ “ศิลปะวัฒนธรรม” ที่ถือเป็นการละเล่น ในท้องถิ่น ที่มีประวัติความเป็นมา ที่เก่าแก่และยาวนานของผู้คนในภาคใต้ ที่เคยผ่านความรุ่งเรืองและรุ่งโรจน์มาในยุคสมัยหนึ่ง ที่ถูกกล่าวขาน ถึงในศิลปะการแสดง ที่เป็นที่จดจำจนกลายเป็นตำนานที่กลายเป็นอดีตไปแล้ว

เช่น “มโนราห์เติม วิน-วาด” คณะมโนราห์ชื่อดังจากเมืองตรัง หนังกั้น ทองหล่อ หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ แห่ง จ.สงขลา หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล หรือ “พร้อม บุญฤทธิ์” ที่มีประวัติจาก “นายหนังตะลุง” ไปเป็น “ส.ส.” หรือผู้แทนราษฎรแห่ง จ.พัทลุง และหนังอิ่มเท่ง หนัง นครินทร์ ชาทอง หนังสกุล เสียงแก้ว ซึ่งหลายท่านเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ที่เป็นผู้มีชื่อเสียง และคุณูประการต่อวงการศิลปินพื้นบ้านอย่างอเนกอนันต์

วันนี้ วงการของ “ศิลปินพื้นที่บ้าน” อย่างลิเกป่าและเพลงบอก อาจจะเหลืออยู่ไม่กี่คณะทั้งภาคใต้ และอาจจะหมดไปตามกาลเวลา เพราะคนสมัยใหม่ไม่รู้จัก และไม่นิยมชมชอบการละเล่น หรือการแสดงของศิลปินพื้นถิ่นในยุคเก่า เช่นเดียวกับมโนราห์และหนังตะลุง ที่ แม้จะมีอยู่จำนวนไม่น้อยในภาคใต้ ที่ยังรับงานแสดงอยู่ แต่การแสดงก็ไม่ชุกชุมเหมือนในอดีต ที่หนังตะลุงบางคณะอย่าง “หนังน้องเดียว” ที่เคยมีขันหมากรับการแสดงข้ามปี และมี “ค่าราด” ที่กล่าวขานว่า แพงที่สุดในหมู่คณะหนังตะลุงในภาคใต้

โดยเฉพาะคณะหนังตะลุงใน “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ซึ่งมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 30 คณะ ที่ส่วนหนึ่งเป็นนายหนังรุ่นใหม่ ที่เข้ามาทดแทนคณะหนังตะลุงรุ่นเก่า ที่อายุมากและล้มหายตายจากไปจากวงการศิลปินพื้นบ้าน เหลือแต่ชื่อเสียงเป็น “ตำนาน” ให้กล่าวถึงและกำลังเลือนหายไปตามกาลเวลา

วันนี้ สถานะของหนังตะลุงในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ก็ยังคงลุ่มๆ ดอนๆ แบบยึดเป็นอาชีพไม่ได้ ยกเว้นบางคณะที่มีชื่อเสียง แต่การที่จะมีผู้รับไปแสดงเดือนละ 20 คืน หรือ มากกว่านั้นอย่างในอดีตคงจะไม่หวนกลับมาอีกแล้ว เพราะเท่าที่ติดตามการแสดงของหนังตะลุง จะเห็นว่า ส่วนใหญ่เป็นงานแก้บน เป็นงานวัด งานประเพณี วัฒนธรรม หรืองานประจำปี เช่น งานสารทเดือนสิบที่ จ.นครศรีธรรมราช ส่วนงานกาชาด งานสวนสนุก เป็นงานที่หนังตะลุงได้รับการติดต่อไปแสดงน้อยต่อน้อย

จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของคณะหนังตะลุง ที่เป็นพัฒนาการ เพื่อนำเสนอการแสดงในแนวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่คนดูหนังตะลุงไม่ได้นั่งหน้าจอ เพื่อชมการแสดงคน “รุ่งแจ้งคาตา” เหมือนในอดีต แต่คนดูหนังตะลุง หลังเที่ยงคืนก็กลับบ้านแล้ว คณะหนังตะลุงจึงแสดงให้คนดูไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง การเล่นหนังหรือแสดงหนังจึงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นการเล่นเรื่องไปเน้นความบันเทิง “ตลกโปกฮา” และการร้องเพลงเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการเดินเรื่องและขับกลอนลดน้อยลง เพราะแม้กลอนดีและเสียงหวาน แต่คนรุ่นใหม่เข้าไม่ถึงศิลปะเหล่านี้ หลายคณะที่เป็น “นายหนังรุ่นใหม่” ที่ นำเอาผู้เล่นตลกและคนดังที่เป็นดาวติ๊กต็อกไปโชว์ตัว โชว์เสียง โชว์ลีลา ให้ผู้มาชมการแสดงได้ดู จึงเป็นอีกช่องทางในการเรียกผู้ชมให้ติดตามการแสดงของคณะหนังตะลุง แม้จะผิดเพี้ยนจาก “ขนบ” ดั้งเดิมของหนังตะลุงในอดีต ตาเป็นความจำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

และอีกความเปลี่ยนแปลงคือ การแสดงที่นำเสนอผู้ชมในยูทูปและติ๊กต็อก และในช่องทางอื่นๆ ในสื่อโชเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นช่องทางของการเสพสื่อ ที่ทันสมัย สอดคล้องกับโลกในปัจจุบัน ที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย และเข้าถึงได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปดูไปชมการแสดงถึงสถานที่หน้าเวที

เป็นการแสดงบนยูทูปและติ๊กต็อก ที่เป็นคลิปสั้นๆ เน้นตลกโปกฮา สร้างอารมณ์ขันเป็นด้านหลัก แต่ก็มีผู้ติดตามที่มากพอสมควร เป็นการลงทุนไม่น้อยกว่าการแสดง ที่มีทั้งลูกคู่และอุปกรณ์การแสดง ที่ต้องใช้รถ 6 ล้อ ในการบรรทุกอุปกรณ์การแสดง ในขณะที่ค่าจ้างลดน้อยลง และที่สำคัญ บางครั้งผู้ที่มาชมการแสดงที่หน้าโรงหนัง อาจะน้อยกว่าลูกคู่และพนักงานของคณะหนังด้วยซ้ำ นี่หมายถึงนายหนัง ที่ชื่อเสียงยังไม่ดัง ซึ่งเป็นนายหนัง หรือคณะหนังรุ่นใหม่ ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

“ชนนพัฒน์ นาคสั้ว” ผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ เขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นบุคคล ที่มองเห็นถึงความไม่แน่นอนของอาชีพการเป็นคณะหนังตะลุงในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้กล่าวว่า ตนเองมองเห็นถึงปัญหาของนายหนังตะลุงและคณะหนังตะลุง ที่ประกอบด้วยผู้คนจำนวนหนึ่ง ที่ประกอบเป็นคณะหนัง แต่ละคณะ ไม่ต่ำกว่า 10 คน ที่เมื่อคณะหนังมีการแสดงน้อยลง ก็ต้องได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดน้อยลง ต้องประกอบอาชีพอื่นๆ เป็นอาชีพหลัก เพราะการเป็นลูกคู่ของการแสดงหนังตะลุง รายได้ไม่แน่นอน ซึ่งในระยะยาว ย่อมส่งผลกระทบถึงอาชีพการเป็นลูกคู่ ที่เป็นศิลปะของการเล่นดนตรี ที่อาจจะสูญหายไปในอนาคต เช่น นายปี่ นายทับ นายโหม่ง และมือซอ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากการที่หนังตะลุงมีผู้รับไปแสดงน้อยลง คือผู้ที่มีอาชีพในการแกะรูปหนัง ที่ใช้ในการแสดง ที่เป็นงานศิลปะในอีกแขนงหนึ่ง ที่เมื่อการแสดงของคณะหนังน้อยลง ความต้องการ “รูปหนัง” ก็จะน้อยลง ซึ่งกระทบกับรายได้และงานฝีมือที่อาจจะต้องเลิกราไปในที่สุด

“ในฐานะของ ส.ส. ที่เป็นผู้แทนในเขต 4 สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ผมมีนโยบายในการส่งเสริมการแสดงหนังตะลุง และการอนุรักษ์ศิลปะ ศิลปินพื้นบ้าน สาขาหนังตะลุง ที่มีอยู่ประมาณ 25-30 คณะ ให้สืบสานศิลปะวัฒนธรรม การเล่นหนังหรือการแสดงหนังตะลุง ให้มีรายได้ ที่ยึดเป็นอาชีพ มีงานการแสดง และมีการตั้งกองทุน หรือการได้รับการดูแล และการส่งเสริม จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน”

“ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล อุปสรรค ปัญหาต่างๆ ของคณะหนังตะลุงในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อใช้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง เพื่อเป็นแนวทางในการที่จะสืบสานศิลปะวัฒนธรรม การแสดงหนังตะลุง ให้เป็นอาชีพที่มั่นคง เพื่อให้ศิลปะการแสดงหนังตะลุงอยู่คู่กับประชาชนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาสืบไป”

แน่นอน เรื่องของหนังตะลุง หรือการแสดงหนังตะลุง คือ เอกลักษณ์ของคนใต้ที่มีความสำคัญ ที่บอกถึงรากเหง้าของคนใต้ ที่เกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรม ที่ต้องดำรงไว้เพื่อให้อยู่คู่กับคนใต้ตลอดไป จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ ส.ส.ที่เป็นคนรุ่นใหม่ อย่าง “ชนนพัฒ์ นาคสั้ว” ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 4 สงขลา มองเห็นถึงความสำคัญ และมีแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนการแสดงหนังตะลุง ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาให้มั่นคงสืบไป

Relate topics