The Agenda South

มองทะลุฉากหลัง “กระบวนการเจรจา” กับบีอาร์เอ็น

by sorawit @7 ก.พ. 2567 10:55 ( IP : 184...74 ) | Tags : ทัศนะ - สนทนา , วาระภาคใต้
photo  , 1080x1080 pixel , 129,523 bytes.

ทัศนะ : ไชยยงค์ มณีพิลึก
ไม่มีอะไรในกอไผ่สำหรับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมายังมีเหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้น 5- 6 ครั้งทั้งใน จ.ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ มีทั้งทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร(อ.ส.) และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่เป็นมวลชนของฝ่ายรัฐ
ที่เป็นเรื่องซ้ำซากคือ ก่อเหตุเผากล้องวงจรปิด CCTV ตามถนนหนทางในหลายหมู่บ้านของ จ.ปัตตานี ซึ่งนอกจากทำลายของหลวงแล้ว เป็นไปได้ที่กองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นต้องการใช้เส้นทางเหล่านั้นเคลื่อนไหว หรือไม่ก็ก่อวินาศกรรมเพื่อไม่ให้มีการบันทึกเป็นหลักฐาน
แม้การก่อเหตุรุนแรงจะไม่ใช่เป้าหมายหลักสู่ความสำเร็จที่วางไว้ แต่การก่อการร้ายก็ทำให้ประชาชนเห็นว่าไฟใต้ยังดำรงอยู่ และเหตุร้ายก็นำไปสร้าง “เงื่อนไข” เพื่อให้ “ภาคประชาสังคม” ใต้ปีกการเมืองบีอาร์เอ็นในพื้นที่นำไปปฏิบัติการไอโอ(IO) ได้ต่อเนื่อง
และเพื่อให้ “องค์กรต่างชาติ” เห็นว่ายัง “ขัดแย้งกันด้วยอาวุธ” อันใช้เป็นเงื่อนไขได้ในเวทีสหประชาชาติ (UN) รวมทั้งให้ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ต้องเข้มตั้งด่าน จุดตรวจ จุดสกัดและนำไปสู่การคงไว้ซึ่ง “กฎหมายพิเศษ” ไม่ว่าจะเป็น พรก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก เป็นต้น
อีกทั้งเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ภาคประชาสังคมในสภาผู้แทนราษฎร และโดยเฉพาะกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรพัฒนาเอกชนได้ใช้โจมตีฝ่ายความมั่นคง เพื่อให้เกิดการยกเลิกตั้งด่าน จุดตรวจ จุดสกัด รวมถึงยกเลิกกฎหมายพิเศษ และอาจมากกว่านั้นคือ ให้ยุบ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไปเสียเลย
ที่สำคัญการก่อเหตุรายรายวันใช้โจมตี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าว่า ไร้ซึ่งประสิทธิภาพ เพราะกว่า 20 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณไปแล้วถึงกว่า 400,000 ล้านบาท ทว่ากลับไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เ จนกล่าวหาได้ว่าเป็นการ “ค้าสงคราม” เสียมากกว่า
ดังนั้นเหตุร้ายใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย จึงยังต้องมีอยู่ต่อไปเพื่อให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า “ติดหล่ม” และเป็นเงื่อนไขให้ปีกการเมืองบีอาร์เอ็นได้ทำไอโอต่อไป เพื่อทำลายความเชื่อมั่นและกล่าวหาว่ารัฐบาลความไม่จริงใจแก้ไขปัญหา
ส่วนทางการเมือง 6-7 กุมภาพันธ์นี้ “คณะพูดคุยสันติสุข” รัฐไทยที่มี “ฉัตรชัย บางชวด” รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้าจะไปเจรจากับบีอาร์เอ็นที่มี “หิพนี มะเระ” เป็นหัวหน้า โดยมีตัวแทน “รัฐบาลมาเลเซีย” ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ถือครั้งแรกของ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
จากการติดตามความเคลื่อนไหวมาระยะหนึ่งพบว่า รัฐไทยยังคงใช้ “นโยบายเดิมๆ” กล่าวคือ ไปรับฟังความเห็นจากกลุ่มจากคนเดิมๆ และยึดกรอบเดิมๆ ตั้งแต่สมัยที่ “พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ” ได้รับการแต่งตั้งจาก รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นหัวหน้าคณะ
ส่วนฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยังคงคณะการพูดคุยชุดเดิมๆ ที่มี “หิพนี มะเระ” เป็นหัวหน้าเพียงอาจมีเปลี่ยนตัวบางคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพบ้าง แถมข้อเสนอก็น่าจะยังเป็นแบบเดิมๆ ที่เคยยื่นให้คณะพูดคุยของ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ มาแล้ว ซึ่งหลายข้อเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยให้การปฏิเสธมาตลอด
ก็ต้องจับตากันต่อไปว่าคณะเจรจาฝ่ายไทยยังจะเสนอให้ “รอมฎอน” ปีนี้เป็นเดือนแห่งสันติสุขแบบเดิมๆ อีกหรือไม่ เพราะเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมกำลังจะมาถึงแล้วในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้แล้ว
ต้องขอบอกว่าเวทีเจรจานี้มีมาตั้งแต่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อเนื่องถึง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กว่า 10 ปีมีลักษณะที่ “ซ่อนเร้น” ของทั้ง 3 ฝ่ายมาตลอด ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไม่มีความคืบหน้าเข้าลักษณะ “ไปไหนมาสามวาสองศอก” ถ้าเป็นสงครามก็แค่ขี่ม้าเรียบค่าย ไม่เคยมีการโจมตีข้าศึก ซึ่งพอจะวิเคราะห์ดังนี้
มาเลเซียที่รับเป็นผู้อำนวยความสะดวกการเจรจามีจุดประสงค์ที่ “ซ่อนเร้น” แน่นอน เพราะให้แกนนำและกองกำลังบีอาร์เอ็นอาศัยอยู่ในประเทศได้ โดยอ้างไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลมาเลเซีย แต่เป็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองที่แม้จะมีวัตถุประสงค์แบ่งแยกดินแดนในชายแดนใต้ของไทยตั้ง “รัฐปัตตานี” ก็ตาม
มาเลเซียพยายามยืนยันว่าไทยเป็นมิตรประเทศที่มีชายแดนติดกัน จึงพร้อมอำนวยความสะดวกให้เจรจาบีอาร์เอ็นตามหลักการเจรจาสันติภาพ หรือต้องการบอกว่า “ไอช่วยยูแล้วนะ” ส่วน “ยู” จะตกลงยุติปัญหาได้สำเร็จหรือไม่ นั่นไม่เกี่ยวกับ “ไอ” เป็นเรื่องของ “พวกคุณทั้ง 2 ฝ่าย”
การที่รัฐบาลมาเลเซียยังให้ที่ “พักพิง” กับบีอาร์เอ็น เนื่องเพราะคนพวกนี้เป็น “พลเมืองมาเลเซีย” และไม่ได้ทำผิดกฎหมายของมาเลเซีย อันเป็นการทำให้รัฐบาลไทยเห็นว่า รัฐบาลมาเลเซียมีความสามารถในการ “คอนโทรล” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในไทยให้เจรจากับรัฐบาลไทยได้
แต่สำหรับบีอาร์เอ็นแล้วมีความต้องการที่จะใช้เวทีการพูดคุยสันติสุข “ยกระดับ” ไปสู่การเจรจาสันติภาพแบบสากล จึงยืนข้อเสนอแบบที่รัฐบาลไทยรับไม่ได้เสมอมา ทำให้กระบวนการพูดคุยยืดเยื้อไปเรื่อยๆ พร้อมกับโจมตีว่ารัฐบาลไทยเป็นฝ่ายที่ไม่จริงใจ ไม่ได้ต้องการใช้เวทีพูดคุยยุติปัญหาไฟใต้แท้จริง
ความจริงแล้วไม่ใช่อ่านเกมของรัฐบาลมาเลเซียและบีอาร์เอ็นไม่ออก แต่รัฐบาลไทยเลือกที่จะเล่นเกมบนโต๊ะพูดคุยด้วย เพื่อให้ “สหประชาชาติ” และ “องค์กรจากชาติตะวันตก” ที่แม้ดูจะยื่นข้างบีอาร์เอ็นเห็นว่า รัฐบาลไทยยินดีกับการแก้ปัญหาไฟใต้ด้วยสันติวิธี
รวมทั้งต้องการใช้โต๊ะพูดคุยสันติสุข “ฟ้อง” คนไทย และโดยเฉพาะคนในชายแดนใต้ให้รับรู้ว่า “ความเลวร้าย” เกิดจากฝีมือบีอาร์เอ็นที่มีตัวตนชัดเจน แล้วเลิกสงสัยว่าการก่อการร้ายไม่ใช่ฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ
ดังนั้นใน “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” มีมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่ายคือ รัฐบาลไทย บีอาร์เอ็น และ รัฐบาลมาเลเซีย ต่างมี “วาระซ่อนเร้น” กันคนละอย่าง ไม่ต่างจาก “นอนเตียงเดียวกัน แต่ฝันคนละเรื่อง”

ดังนั้น “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” จึงไม่ต่างจาก “ละครฉากใหญ่” ที่อยากให้ “คนไทย” ได้ติดตามกันใกล้ชิด เพราะจุดจบจะไม่ได้อยู่ที่ “มาตรการดับไฟใต้” แต่ได้ “ใช้งบประมาณ” สืบเนื่องไปอีกยาวนานแน่นอน
ที่บอกเล่ามาไม่ได้ต้องการให้เชื่อ แต่อยากให้คนไทยโปรดติดตามกันใกล้ชิดแบบอย่างกระพริบตา เพราะกาลเวลาไม่เคยหลอกลวงใครได้

Relate topics