The Agenda South

“อุ๊งอิ๊ง” กับภารกิจลบข้อหาพ่อจุดไฟใต้ระลอกใหม่

by sorawit @22 ส.ค. 2567 12:57 ( IP : 171...147 ) | Tags : ทัศนะ - สนทนา , วาระภาคใต้
photo  , 1080x1080 pixel , 141,487 bytes.

ทัศนะ : ไชยยงค์ มณีพิลึก

เป็นอีกสัปดาห์ที่ “บีอาร์เอ็น” ไม่ได้สร้างความสูญเสียให้เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงลดลงแล้ว หรือกระทั่ง “ยุทธการคลองช้าง” ที่ ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ที่มีการวิสามัญฯ กองกำลังติดอาวุธไป 3 ศพจะทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนย่นระย่อต่อการเอาคืน

เพียงแต่ที่ไม่มีเสียงระเบิดและปืนจากการซุ่มโจมตีอาจจะมาจาก “มาตรการป้องกัน” ของทหารมีความข้นข้นมากขึ้น และ “เป้าหมาย” ไม่ชัดเจนเพียงพอ ทำให้ปฏิบัติการของฝ่ายบีอาร์เอ็นจึงเกิดขึ้นไม่ได้

ในขณะเดียวที่ “งานการทหาร” ของบีอาร์เอ็นในพื้นที่ลดความถี่ลง แต่งานสร้างมวลชนที่ขับเคลื่อนผ่าน “ปีกการเมือง” กลับเข้มข้นและถี่ขึ้น โดยมีการนำเอา “เงื่อนไข” ในพื้นที่ไปทำการขับเคลื่อนเพื่อให้เข้ากับบริบทของสถานการณ์

เช่นการจัดกิจกรรม “คืนความยุติธรรมให้ตากใบ” ช่วงรอการตัดสินของศาลจังหวัดนราธิวาส หลังจากไต่สวนคำฟ้องฝ่ายโจทก์ที่เป็นตัวแทนของครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 83 ศพระหว่างถูกควบคุมตัวจาก สภ.ตากใบ เดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี กิจกรรมดังกล่าวจัดโดย “ภาคประชาสังคม” เพื่อกระตุ้นเตือน “คนมาลายู” ไม่ให้ลืมเลือน และเป็นการ “กดดัน” กระบวนการยุติธรรมที่กำลังจะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับเป็นคดีไปพร้อมๆ กัน

รวมทั้งมีการขับเคลื่อนของ “9 นักกิจกรรม” จากภาคประชาสังคมที่ถูก “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ดำเนินคดีมาก่อนแล้วจากการจัดงาน “วันมลายูเดย์” ที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อปี 2566 ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการจังหวัดว่าจะส่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง

อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวจากภาคประชาสังคมยื่นเรื่องให้ “องค์การสหประชาชาติ” หวังกดดัน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยุติการดำเนินคดี หรือชี้นำให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง ถือเป็นการดึง “มหาอำนาจ” เข้ามา “แทรกแซง” เพื่อที่ให้ผู้ต้องหามลายูไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายไทย จนดูเหมือนไม่ค่อยเป็นธรรมกับคนไทยพุทธสักเท่าไหร่

รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นใน “โรงเรียนตาดีกา” ไปจนถึง “สถาบันอุดมศึกษา” และในชุมชนที่เครือข่ายบีอาร์เอ็นมีความเข้มแข็ง โดยมักสื่อไปทาง “แข็งข้อ” แบบไม่สนใจกติกาและคำขอร้องจาก “หน่วยงานความมั่นคง” ที่พยายามทำความเข้าใจเพื่อมิให้เกิดความหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมาย

ด้าน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเองก็แทบไม่สามารถแก้ปัญหาการต่อต้านอำนาจรัฐที่เกิดขึ้น อาจเพราะไม่กล้า “ใช้ยาแรง” กับผู้บริหารองค์กรเอกชนเหล่านั้น ด้วยไม่มีความพร้อมรับมือกับปัญหาที่จะตามมา จึงกลายเป็นเรื่อง “ได้ใจ” ซึ่งนี่คือความแตกต่างระหว่างคนชายแดนใต้กับคนในภูมิภาคอื่นๆ

เช่นเดียวกับปัญหาที่ “ล่อแหลม” ต่อความมั่นคงที่ดำเนินมาเนินนานคือ “พิธีแห่ศพ” แนวร่วมหรือกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมเพื่อยกย่องให้เป็น “ชาอีด” หรือ “ผู้พลีชีพ” ในฐานะนักรบพระเจ้าหรือผู้ปกป้องมาตุภูมิ ซึ่งบีอาร์เอ็น “บิดเบือนหลักการศาสนา” ไปใช้สร้างมวลชนและสร้างสถานการณ์

เชื่อหรือไม่ว่าคนที่ถูกวิสามัญฯ ทุกรายมี “หมายจับ” ติดตัว อาทิ คดีฆ่าคน วางเพลิง วางระเบิด ก่อวินาศกรรม หรือไม่ก็เป็นผู้ต้องหาด้านความมั่นคง คดีอั้งยี่ ซ่องโจร อีกทั้งทำผิด ป.วิอาญาหรือไม่ก็ พรก.ฉุกเฉินฯ และมีหลักฐานยืนยันว่าเป็นผู้ที่รวมขบวนการแบ่งแยกดินแดน

ที่สำคัญก่อนถูกวิสามัญฯ เจ้าหน้าที่ได้เปิดโอกาสให้ “มอบตัว” แล้วทุกครั้ง แต่แนวร่วมหรือกองกลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นมักเลือกที่จะ “สู้ตาย” เพื่อจะได้ใช้ศพเป็นเครื่องมือ “สร้างเงื่อนไข” ต่อ อันเป็นไปตามความมุ่งหวังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตาม “ธง” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องไม่นิ่งนอนใจอีกต่อไป เพราะปัญหาอื่นๆ ล้วนเบาบางกว่าแทบทั้งสิ้น ตัวอย่างเรื่องความไม่เป็นธรรมก็เป็นเรื่องความรู้สึก ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เรื่องการอุ้มฆ่า อุ้มหาย หรือซ้อมทรมานก็ไม่ได้เกิดขึ้นนานแล้ว แถมยังมีกฎหมายคุ้มเข้มการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ออกมาบังคับใช้แล้วด้วย

สิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องเร่งทำจึงคือ การให้ “ผู้นำศาสนา” ทุกระดับตั้งแต่จุฬาราชมนตรี ประธานกรรมการอิสลามจังหวัด อิหม่ามทุกมัสยิด หรือ “ผู้นำจิตวิญญาณ” อย่างบาบอ เจ้าของโรงเรียนและปอเนาะ กระทั่งโต๊ะครู ให้ออกมาทำความเข้าใจกับมุสลิมในพื้นที่

โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญคือ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไม่ได้เป็น “แผ่นดินดารุนฮารบี” ตามที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนบ่มเพาะหรือปลุกระดมให้เชื่อ แต่เป็น “แผ่นดินดารุสลาม” หรือเป็นแผ่นดินแห่งความสงบสันติที่ไม่มีความขัดแย้งทางศาสนา

นี่คือหนทางแก้ปัญหา “พิธีแห่ศพ” ที่ถูกบีอาร์เอ็นบิดเบือนหลักการศาสนาไปใช้สร้าง “เงื่อนไข” แบ่งแยกดินแดน โดยที่ผ่านมาผู้นำศาสนาและผู้นำจิตวิญญาณต่าง “ไม่ใส่ใจ” หรือไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเท่าที่ควร อันทำให้มาตรการดับไฟใต้ของทุกรัฐบาลที่ผ่านๆ แทบไม่เกิดผลอะไรมากมาย

ดีกว่าการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะใช้วิธีไปไล่แจ้งความเอาผิดกับ “เจ้าของบ้าน” ที่ให้ที่พักพิงกับผู้ถูกวิสามัญฯ ซึ่งเวลานี้บีอาร์เอ็นก็แก้เกมด้วยการอ้างทุกครั้งที่มีการปิดล้อมจับกุมว่าเป็น “บ้านเช่า” เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เจ้าของบ้านได้รับโทษ

ที่สำคัญ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าสังเกตหรือไม่ว่า ทำไมการแห่ศพผู้ถูกวิสามัญฯ ในระยะหลังมีการนำเด็กๆ จากปอเนาะ หรือไม่ก็นำเยาวชนในและนอกหมู่บ้านเข้ามาร่วมพิธีเพื่อให้เสียงตะโกนคำว่า “อัลเลาะห์ อักบัร” และ “ปาตานี เมอร์เดก้า” ดังมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่คือการบ่มเพาะ “นักรบหน้าขาว” เข้าสู่ขบวนการนั่นเอง

สุดท้ายทราบมาว่า ใน “กระบวนการพูดคุยสันติภาพ” ที่เป็นอีกหนึ่งช่องทาง “สร้างภาพลักษณ์” ว่ายังต้องการใช้การเจรจาหรือพูดคุยกับคู่ขัดแย้งอย่างบีอาร์เอ็น จะมีการ “เปลี่ยนตัว” หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐไทยจาก “ฉัตรชัย บางชวด” รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นบุคคลอื่นอีกคราครั้งแล้ว
ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ “รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง” ซึ่ง “แพทองธาร ชินวัตร” เพิ่งได้รับเลือกเป็นนายรัฐมนตรีคนที่ 31 หมาดๆ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ การเลือกสรรคนใหม่มาทำหน้าที่นี้ไม่ใช่เรื่องเร่งร้อน และควรเกิดหลังจากได้ “เลขาธิการ สมช.คนใหม่” แทน พล.ต.อ. รอย อิงคไพโรจน์ ที่ใกล้จะเกษียณ

ความจริงแล้ว “ปัญหาความมั่นคง” เป็นเรื่องที่ “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” จำต้องให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าด้านอื่นๆ เพราะต้องไม่ลืมว่ามีดีเอ็นเอของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้มีส่วน “จุดไฟใต้ระลอกใหม่” ให้เกิดขึ้น

จึงเป็นความท้าทายสำหรับคนในสายเลือด “ชินวัตร” ผู้ที่มารับหน้าที่สานต่อ “ระบอบทักษิณ” จะต้องแสดงฝีมือ “ดับไฟใต้ระลอกใหม่” ที่ผู้เป็นพ่อถูกกล่าวหาว่าจุดขึ้น ให้สมกับคำว่า “นารีขี่ม้าขาว” เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความศิวิไลซ์

Relate topics