The Agenda South

แนะ 2 เรื่องให้ “รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง” ทำเพื่อยุติการค้าสงครามชายแดนใต้

by sorawit @10 ก.ย. 2567 18:25 ( IP : 184...61 ) | Tags : ทัศนะ - สนทนา , วาระภาคใต้
photo  , 1080x1080 pixel , 91,951 bytes.

ทัศนะ : ไชยยงค์ มณีพิลึก

“กองอาสารักษาดินแดน” ที่เรียกกันว่า “อส.” ถือเป็น “กองกำลังท้องถิ่น” เพราะคนในพื้นที่สมัครเข้ามา เป็นกำลังฝ่ายปกครองของอำเภอและจังหวัด ต่อมาถูกจัดตั้งเป็น “ชุดคุ้มครองตำบล” หรือ “ชคต.” ทำหน้าที่รักษาความสงบระดับตำบล ฝ่ายปกครองเป็นผู้ควบคุม แต่ด้านยุทธการขึ้นกับ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า”

หลายเดือนมานี้ “ชคต.” กลายเป็น “เป้าหมายหลัก” ของกองกำลังติดอาวุธขบวนการแบ่งแยกดินแดน “บีอาร์เอ็น” ทั้งถูกโจมตีฐานปฏิบัติการ ถูกลอบยิง ลอบขว้างระเบิดใส่ขณะที่ลาดตระเวนรักษาความสงบให้ประชาชนในพื้นที่

มีเหตุต่อเนื่องในระหว่างเดือนสิงหาคม–กันยายน 2567 คือ “แนวร่วม” บีอาร์เอ็นได้หว่านโปรยจดหมายไปยังศาสนสถานและสถานที่สำคัญใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ขู่ให้กองกำลังท้องถิ่นลาออก

แถมยังส่งจดหมายแบบเดียวกันเจาะจงไปยัง ชคต.หลายคน ข่มขู่ว่า หากไม่ลาออกอาจทำให้ “ลูกๆ เป็นกำพร้า” และ “ภรรยาเป็นหม้าย” ล่าสุดมีการพ่นสีบนถนนหนทางในหลายพื้นที่ด้วยตัวอักษร “อส.ลาออก” เพื่อสร้างความหวาดกลัวและกดดันครอบครัวเครือญาติ รวมถึงคนในพื้นที่ให้วิตกกังวลไปตามๆ กัน

นับได้ผลในระดับหนึ่ง เพราะจากที่ผ่านๆ มาหลังมีการข่มขู่ มักจะมีการปฏิบัติการจริงตามมาด้วย ซึ่งในครั้งนี้ บีอาร์เอ็นอาจจะเอาจริงถึงขั้นขยายเป้าหมายจากตัว อส.สู่ลูกเมียหรือคนในครอบครัวหรือไม่ แม้วันนี้จะยังไม่มีข่าวเช่นนั้นก็ตาม แต่ก็ต้องจับตาชนิดอย่ากระพริบกันต่อไป

ในอดีตบีอาร์เอ็นมองว่ากองกำลังติดอาวุธที่มาจาก “ชาวบ้าน” ยังขาด “จิตวิญญาณนักสู้” จึงไม่ใช่ขวากหนามสำคัญต่อปฏิบัติการแบ่งแยกดินแดนที่เน้นการใช้ “ความรุนแรง” หรือแม้แต่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เองในยุคนั้นก็ยังตั้งฉายาให้เป็นได้แค่ “ผักเหนาะคอมฯ” เท่านั้น

แต่ความที่หน่วยงานความมั่นคงมีนโยบายลด “ทหารหลัก” แล้วหันมาใช้ “อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.)” ซึ่งตั้งเป้าให้มีผลชัดเจนในปี 2570 จึงมีการเพิ่มศักยภาพของ อส.ทั้งด้านยุทธการ ยุทธวิธี และการข่าว มีการจัดตั้ง “กองกำลัง อส.ทันสมัย” ให้มีประสิทธิภาพและระเบียบวินัยเช่นเดียวกับทหารและตำรวจ

รวมทั้งเน้นรับคนที่จบปริญญาตรีเข้ามาเป็น อส.มากขึ้น ซึ่งให้ค่าตอบแทน 15,000 บาท/เดือน นี่ยังไม่รวมเบี้ยเลี้ยงและค่าตอบแทนอื่นๆ เวลานี้กองกำลังท้องถิ่นที่มาจากประชาชนจึงมีประสิทธิภาพไม่แพ้หรือเทียบเท่าทหารและตำรวจที่เป็นข้าราชการประจำได้แล้ว

ส่งผลให้ทุกวันนี้ บีอาร์เอ็นจึงมีความหวั่นไหวต่อนโยบายของฝ่ายความมั่นคงในชายแดนใต้ไม่น้อย เพราะกองกำลังท้องถิ่นมีจิตวิญญาณที่พร้อมปกป้องมาตูภูมิ และที่สำคัญรายได้จากการทำหน้าที่ อส.ถือว่าเพียงพอต่อการยังชีพ แถมยังมีหนทางสู่ความก้าวหน้าได้ในอนาคตอีกด้วย

จึงไม่แปลกที่ในเวลานี้ บีอาร์เอ็นจะหันเป้าไปทำลายล้าง อส.ต่อเนื่อง ในลักษณะที่กล่าวมาแล้ว โดยใช้แนวร่วมที่แฝงฝังอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะ “กลุ่มเยาวชนช่วยรบ” ให้เป็นผู้ดำเนินการหลัก
จึงไม่แปลกที่นโยบายความมั่นคงอะไรที่ทำให้เห็นว่าเป็นอุปสรรคขวากหนามสำคัญ บีอาร์เอ็นก็จะพยายามทำให้ “อ่อนแอ” ไปเรื่อยๆ แล้วหรือหาก “ทำลาย” ได้ก็จะเร่งทำทันที

ความจริงแล้วในวันนี้บีอาร์เอ็นกำลังหวั่นไหวใน 2 เรื่องที่สำคัญมาก ประกอบด้วย เรื่องแรกคือ นโยบายความมั่นคงในชายแดนใต้ ที่หันมาใช้กำลังกองกำลัง อส.แทนที่กองกำลังทหารหลักที่ตั้งเป้าหมายจะให้เกิดผลเป็นจริงในปี 2570 หรืออีกเพียง 3 ปีข้างหน้าเท่านั้น
จุดแข็งของกองกำลังท้องถิ่น อส.ทันสมัยคือ ความเป็น “คนมาลายู” ที่นับถือ “ศาสนาอิสลาม” เช่นเดียวกันกับคนของฝ่ายบีอาร์เอ็นที่แฝงฝังอยู่ในพื้นที่ หรือบางครั้งอาจจะเป็นญาติสนิทมิตรสหายเลยด้วย ส่งผลให้ถ้าเกิดการโจมตี อส.เมื่อไหร่ นั่นมีแต่จะทำให้บีอาร์เอ็น “เสียมวลชน” หรือกระทั่ง “เสียแนวร่วม” ไปไม่มากก็น้อย

แตกต่างจากการโจมตีกองกำลังทหารและตำรวจที่แทบไม่ทำให้บีอาร์เอ็นเสียมวลชนอะไรเลย เพราะคนในพื้นที่จำนวนหนึ่งถูกบ่มเพาะให้มีอคติมาเป็นเวลานาน สังเกตจาก “กองกิจการพลเรือน” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แม้จะนำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เข้าไปให้คนในพื้นที่มากเท่าใด ชาวบ้านก็ยังไม่เลิกอคติ

ดังนี้แล้วบีอาร์เอ็นยังต้องการให้ทั้ง “ทหารเขียว” และ “ทหารพราน” คงกองกำลังอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้ยังคงเป็น “เงื่อนไข” สำคัญต่อปฏิบัติการมวลชนของฝ่ายบีอาร์เอ็นเองยังทำงานได้สะดวกแบบเดิมๆ นั่นเอง

อีกเรื่องคือ มาตรการให้ผู้นำศาสนาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน ซึ่งเป็นการทำลายเงื่อนไขที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นบิดเบือนหลักการศาสนาไปใช้ผูกปมเงื่อนแบบผิดๆ เอาไว้ในจิตใจมวลชน สังเกตได้จากการพยายามข่มขู่ คุกคาม รวมถึงต้องการเข้าควบคุมบรรดาผู้นำศาสนาที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของบีอาร์เอ็น
ที่ผ่านมา ฝ่ายบีอาร์เอ็นใช้วิธีบ่มเพาะให้มวลชนเชื่อว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ “แผ่นดินดารุนฮารบี” หรือแผ่นดินที่มี “ความขัดแย้งทางศาสนา” อย่างมีนัยสำคัญ บีอาร์เอ็นจึงพยายามคุกคามต่างๆ นานา ต่อผู้นำศาสนาที่ไม่เห็นด้วยให้ “นิ่งเฉย” อย่าแสดงความขัดแย้ง หรือถ้ายอมให้ควบคุมก็จะทำทันที
ดังนั้น “รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง 1” ที่มี น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะ “สหายใหญ่” นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม กับ “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพานิชย์ รมช.กลาโหม รวมถึงหน่วยหลักกองทัพในพื้นที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ต้องเร่งขับเคลื่อนใน 2 เรื่องนี้ให้บังเกิดผล
ประการแรก ต้องยิ่งเร่งมือสร้างความเข็มแข็งให้แก่ “กองกำลัง อส.” เพื่อใช้เป็นกองกำลังทดแทนในการรักษาความสงบในชายแดนใต้ โดยเฉพาะต้องไม่ให้รู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงแล้วลาออกตามความต้องการของฝ่ายบีอาร์เอ็น

ประการที่สอง ต้องเร่งแก้ปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ “ผู้นำศาสนา” ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของฝ่ายบีอาร์เอ็น ขณะที่ใครซึ่งเป็นแนวร่วมให้แก่บีอาร์เอ็นก็ต้องทำให้กลับใจเลิกเดินหน้าบ่มเพาะแบบผิดๆ ว่า ชายแดนใต้ไม่ใช่ “แผ่นดินดารุนฮารบี” ดังที่กล่าวอ้าง

ถ้าทำ 2 เรื่องนี้ให้เกิด “เป็นมรรคผล” ได้ เชื่อมั่นว่ามาตรการดับไฟใต้จะก้าวสู่ความสำเร็จได้เสียที ทั้งนี้หน่วยงานความมั่นคงต้องเลิกการแก้ปัญหาแบบ “ขี่ม้าเลียบค่าย” ที่เอาแต่แสดงแสนยานุภาพ แต่ไม่กล้าที่จะโจมตีเพื่อทำลายจุดแข็งของศัตรู

เลิกเสียทีเถอะกับการ “ค้าสงคราม” ที่หวังเพียงงบประมาณ แต่ไม่มุ่งหวังที่จะได้รับชัยชนะเหนือศัตรู

Relate topics