The Agenda South

ไฟใต้ในอ้อมกอด “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน”

by sorawit @28 ส.ค. 2566 15:49 ( IP : 184...31 ) | Tags : ทัศนะ - สนทนา
photo  , 1080x1080 pixel , 170,105 bytes.

ทัศนะ : ไชยยงค์ มณพิลึก

มีการตั้งคำถามว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยผลักดันให้นายเศรษฐา ทวีสิน ผ่านการโหวตจากรัฐสภาได้นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้สำเร็จ เวลานี้เร่งทำโผคณะรัฐมนตรี แล้วรัฐบาลชุดใหม่จะมีผลให้สถานการณ์ความไม่สงบบนแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด

เวลานี้สังคมอาจจะเชื่อมั่นฝีมือพรรคเพื่อไทยว่า น่าจะผลักดันนโยบายแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนอย่างจับต้องได้ เช่น แก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ขณะที่ลดราคาพลังงานลงได้ เป็นต้น เพราะเรื่องเหล่านี้จะช่วยลบภาพความตระบัดสัตย์ และมีผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าที่มีพรรคก้าวไกลเป็นคู่แข่งสำคัญ

แต่สำหรับสถานการณ์ไฟใต้ เชื่อได้ว่าคนไทยอาจจะไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพราะพรรคเพื่อไทยต้องประนีประนอมกับ “กองทัพ” และโดยเฉพาะกับบรรดา “นายพล” ที่ยังควบคุมอำนาจอยู่ในการเมือง

ต้องไม่ลืมว่ากองทัพคือสถาบันที่ควบคุมดูแลความมั่นคงของชาติ เป็นกลไกสำคัญที่สุดในการนำนโยบายดับไฟใต้ไปปฏิบัติ โดยผ่าน “กองทัพภาคที่ 4” ลงสู่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวที่มี “งบประมาณ” ผ่านมือมากที่สุด แต่ 19 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ที่ผ่านมาก็ยังคงมะงุมมะงาหราหาทางดับไฟใต้ไม่เจอ

ฉะนั้นจึงเชื่อได้ว่ารัฐบาลใหม่ใต้ปีกพรรคเพื่อไทยจะไม่มีนโยบายที่ “แข็งกร้าว” หรือเทียบได้กับพรรคก้าวไกลที่ “มีธง” ฟาดฟันกับการใช้อำนาจและงบประมาณของกองทัพ แต่จะมีนโยบายที่เอาแต่ “คล้อยตาม” กองทัพประกาศมาโดยตลอดว่า สำหรับนโยบายดับไฟใต้นั้น “เราเดินมาถูกทางแล้ว”

นั่นคือการชู “สันติวิธี” นำหน้า แล้วปล่อยให้ “ขบวนการค้าของเถื่อน” ตามแนวชายแดนได้ทำมาหากินกันต่อไป เพราะไม่ต้องการให้เกิด “ศัตรูร่วม” ไปผสมโรง “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ส่วนจะมีการจ่าย “ส่วย” ให้ “ท่านนายพล” หรือ “ผบ.หน่วย” ในพื้นที่บางคนหรือไม่ ถือเป็นอีกปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

เนื่องเพราะปัญหาส่วยใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลาคือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เป็นเรื่องที่ต้อง “ปกปิด” ถือเป็นการ “สมยอม” กันระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ไม่เหมือนส่วยบุหรี่หนีภาษีของ “เสี่ยหยอย” ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่เจ้าหน้าที่ยึด “บัญชีส่วย” ได้แล้วนำมาเปิดเผยต่อสื่อ

สำหับมาตรการดับไฟใต้ด้วยการ “ตั้งโต๊ะพูดคุยสันติสุข” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็น่าจะมีการส่งไม้ต่อให้รัฐบาลใหม่ได้พูดคุยกันต่อไป เพียงแต่อาจมีการปรับเปลี่ยนคำเรียกกลับมาใช้คำว่า “เจรจาสันติภาพ” ตามแบบฉบับของ “รัฐบาลระบอบทักษิณ” ก็เป็นได้

ต้องไม่ลืมว่า นายทักษิณ ชินวัตร คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังดันให้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดการเจรจากับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน และการตั้งโต๊ะเจรจาครั้งแรกก็มี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้าคณะ และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่ รมว.ยุติธรรมที่ในขณะนั้นนั่งเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมอยู่ในคณะฝ่ายไทยด้วย

เมื่อพรรคเพื่อไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง จึงเชื่อว่า พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร น่าจะได้กลับเข้ามามีบทบาทเจรจาสันติภาพกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอีกครั้ง ที่สำคัญในสถานการใหม่นี้จะมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะ รมว.ยุติธรรมเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของโต๊ะเจรจาสันติภาพระลอกใหม่ด้วย

ด้านฝ่ายของมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก และฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนคู่เจรจากับรัฐไทย เวลานี้มีการเตรียมการเพื่อรองรับการเจรจาระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างคึกคัก โดยหวังว่าจะมีการเดินหน้าเจรจาในรูปแบบและวิธีการเดิมๆ กันต่อไป

เชื่อหรือไม่ว่า ฝ่ายมาเลเซียในฐานะ “ผู้บงการ” ตัวจริงได้ปลุก “กลุ่มมาราปาตานี” ที่เคยเป็นคู่เจรจาหลักในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาใหม่ แต่ให้เปลี่ยนหัวหน้าคณะเสียใหม่ โดยไปเอา “แกนนำ” บางคนที่มีศักยภาพจริงใน “ขบวนการบีอาร์เอ็น” มาสวมแทน

ก่อนหน้านี้ฝ่ายมาเลเซียเคยปรับเปลี่ยนหัวหน้าคณะเจรจามาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าพรรคก้าวไกลจะได้จัดตั้งรัฐบาล จึงถอด “หิพนี มะเร๊ะ” กับ “วาเหะ หะยีอาแซ” ที่ป่วยเรื้อรังออก แล้วให้ “เปาะนิอาชิ” หรือ “นิเซะ นิฮะ” มาสวมแทน เพราะเห็นว่ามีความสนิทสนมกับคนของพรรคก้าวไกลที่น่าจะได้ร่วมคณะเจรจา

แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกลได้สำเร็จ จึงเชื่อว่าการแก้ปัญหาไฟใต้ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะจะไม่มีการยุบ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” กับ “ศอ.บต.” และจะไม่มีการยกเลิกกฎหมายความมั่นคงใดๆ หรือกระทั่งไม่มีการเปลี่ยน “แม่ทัพภาคที่ 4” ด้วย

อย่างเดียวที่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนในชายแดนใต้คือ พรรคประชาชาติมี ส.ส.ในพื้นที่มากที่สุด เมื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคได้นั่งเป็น “รมว.ยุติธรรม” น่าจะมีการลด “เงื่อนไขความเหลื่อมล้ำ” ที่มีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ได้

เพราะ “นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ” คือสิ่งที่พรรคประชาชาติใช้หาเสียงไว้กับชาวชายแดนใต้ ซึ่งหากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เห็นเป็นรูปธรรมหรือจับต้องไม่ได้ นั่นก็จะส่งผลถึงการเลือกตั้งในสมัยหน้าอย่างแน่นอน

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่านับจากนี้ไม่ว่าประเทศไทยจะมี “รัฐบาลพลเรือน” หรือ “รัฐบาลทหาร” ฉากทัศน์เดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นและดำรงอยู่บนแผ่นดินไฟใต้ ซึ่งเคยถูกฉายมายาวนานกว่า 19 ปีของไฟใต้ระลอกใหม่ ภาพเหล่านั้นจะยังหวนกลับมาให้เห็นแบบซ้ำซาก นั่นคือ...

ภาพหนึ่ง คือ การลอบวางระเบิด คาร์บอมบ์ ไปป์บอมบ์ วางเพลิง ซุ่มโจมตี ยิงรายวัน ฯลฯ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเป้าหมายหลัก แต่ก็มีประชาชนบริสุทธิ์ร่วมตกเป็นเหยื่อไปด้วยบ่อยครั้ง ตามด้วยพิธีวางหรีดและจ่ายเงินเยียวยาจาก “กองทัพ” และ “ศอ.บต.” หรือหากสะเทือนขวัญก็จะมีผู้หลักผู้ใหญ่ให้ความสำคัญมาร่วมพิธีศพ

อีกภาพหนึ่ง ได้แก่ การปิดล้อม ตรวจค้น แล้วจบลงด้วย “วิสามัญฆาตกรรม” กองกำลังติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีหมายจับติดตัว แล้วจบลงด้วยพิธีศพเยี่ยงบุคคลสำคัญ “ผู้พลีชีพ” ที่มีขบวนแห่คึกคัก มีการส่งเสียงสรรเสริญและตะโกนคำว่า “เมอร์เดก้า ปาตานี” ไปตลอดทาง

และอีกภาพ ได้แก่ บาง “นักการเมือง” บาง “พรรคการเมือง” หรือบาง “กลุ่มการเมือง” ร่วมมือกับ “ภาคประชาสังคม” และโดยเฉพาะที่อยู่ใต้ปีกทางการเมืองของขบวนการแบ่งแยกดินแดน พวกเขาจะหาช่องทางขับเคลื่อนสนับสนุนได้อย่างไม่ยากเย็น

ขอสรุปแบบตอกย้ำให้เห็นอีกครั้งว่า รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ปีกโอบของ “ระบอบทักษิณ” แนวรบด้านชายแดนใต้นอกจากจะไม่น่าเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ แล้ว ยังกลับกัน คาดว่ายังจะมี “ความรุนแรง” เพื่อเป็นการต้อนรับด้วย ซึ่งเชื่อว่า “บีอาร์เอ็น” ได้กำหนดเกมไว้ล่วงหน้าแล้วนั่นเอง

Relate topics