The Agenda South

เล่าเรื่องประชาธิปไตยคนจน-ธนาคารแพะหวะแก้จน (จบ)

by sorawit @23 พ.ย. 2566 18:43 ( IP : 223...47 ) | Tags : ทัศนะ - สนทนา
photo  , 960x960 pixel , 125,359 bytes.

ทัศนะ โดย.. รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
ในทุกสังคมล้วนมีกฎ กติกา มารยาทและการอยู่ร่วมสังคมนั้น “ชั้นชนใดเขียนกฎหมายก็ต้องเอื้อเพื่อชนนั้น” แน่นอนคงยากถึงแทบเป็นไปไม่ได้ กับการที่คนจนจะลุกขึ้นมาเขียนกฎหมาย จึงต้องกลายเป็นเบี้ยงล่างมานานแสนนาน

คนจน และการกลายเป็นคนจน สัมพันธ์กับการแช่แข็ง วาทกรรรม และการลดทอนปัญหาที่สลับซับซ้อนอันเนื่องมาจากโครงสร้าง ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ และการค้ำจุนความอยุติธรรม ไว้เพียงศักยภาพของปัจเจกบุคคลเท่านั้น

โฆษณา “จน เครียด กินเหล้า” คือวาทกรรม ตลกร้าย ที่สร้างความรู้สึก การรับรู้ที่ผิดพลาดแก่สังคม ด้วยการผลักภาระความจน คนจน ให้เหลือเพียงความสามารถ/ ไม่สามารถของปัจเจกบุคล อันเนื่องมาจากการตกอยู่ในวัฏจักร-วัฒนธรรมความจน แบบ “โง่ จน เจ็บ”

[มายาคติมากมายในชีวิตประจำวัน ที่มีส่วนในการสร้าง ตอก ตรึง ชุดการรับรู้ ทั้งโดยรู้ตัว ไม่รู้ตัว และการสมาทานผ่านระบบ กลไก โครงสร้าง การศึกษา ความรู้ ฯลฯ ครั้งหนึ่งข้าพเจ้ายังรู้สึกตลกขบขันกับโฆษณาผู้ใหญ่ลีกับโครงการผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ท่อนซุงขนาดใหญ่ ที่ชาวชุมชน มะรุมมะตุ้มไปมา จากเรือ ชุดรับแขก เขียง กระทั่งกลายมาเป็นไม้จิ้มฟัน ก่อนปิดท้ายด้วยMotto ว่า “ถ้าไร้ปัญญา ทุนที่ได้มาก็ไม่เหลือ เร่งสร้างทุนทางปัญญา...”]

ศาสตราจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ความจน ไม่ใช่เรื่องของกรรมเก่า ไม่ใช่เป็นเพราะว่าคนจนไม่ขยัน แต่มีข้อมูลมากมายที่ทำให้รู้กันอย่างดีว่า โครงสร้างของสังคมมีส่วนกำหนดปัญหาความยากจน “คนในสังคมรู้ แต่ไม่รู้สึก”

ทั้งเศร้า ทั้งหดหู่

“ธนาคารแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ” คือ ความหวัง การลุกขึ้นมาปฏิบัติการสร้างธนาคารแพะ ด้วยฐานคิดของการแบ่งปัน และการสร้างกระดุมเชื่อมความร่วมมือภายใน ด้วยข้อตกลงที่กำหนดขึ้นจากฐานการมีส่วนร่วม “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์” ที่เรียกว่า “ธรรมนูญชุมชน” จึงเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ข้ามพ้นวาทกรรมความจน ด้วยปัญญา วิชาที่สั่งสม เติบโต งอกงามขึ้นจากสถานการณ์ที่กางขั้น ขึงตรึง-ซึ่งหน้า
มากไปกว่านั้นคือการสร้างความเป็นพลเมืองชุมชน/ ท้องถิ่น ที่พร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

และการสร้าง “ประชาธิปไตยกินได้” จากการริเริ่มกิจกรรม โครงการจากจุดที่ยั่งยืน ทั้งยังยกระดับพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบ เป็นโมเดลแก้จน เป็นวิชาแพะหวะแก้จน ที่พร้อมขยายผลในแนวราบสู่พื้นที่/ กลุ่มเป้าเหมายอื่นๆ ที่มีบริบทเชิงพื้นที่ วิถี วัฒนธรรมชุมชน ศาสนา และชาติพันธุ์ เหมือนและ ใกล้ ไกล ไม่สิ้นสุด

ที่สำคัญอีกขั้นของการพัฒนา คือ การทำให้เกิดนโยบาย-แผนพัฒนาจังหวัด จากการขานรับความสำเร็จของธนาคารฯ การเคลื่อนเปลี่ยนโครงสร้างส่วนบนให้เข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย การให้คุณค่า-มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย และทำให้ ผู้คน ชุมชน ปรากฎตัวขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของ “การพัฒนาที่ถูกนับ” ทำให้เห็นหัวคนจน ไม่เฉพาะวันเข้าคูหา กาคะแนนเสียง-เลือกตั้ง เท่านั้น

ประชาธิปไตยไม่ใช่เดินเข้าคูหา กาบัตรเลือกตั้ง  แต่คือวิถี วัฒนธรรม ที่มีพื้นที่รูปธรรมเชิงคุณภาพรองรับ ขยับขยายต่อยอดกิจกรรมในเชิงลึกและกว้างผ่านการสร้าง “เครือข่ายใหม่” ในการจัดการตนเองจากข้างล่าง อย่างยั่งยืน  ด้วยโมเดลและนวัตกรรมแก้จน ที่คิดค้นมากับมือ

มือเท้า-ซ้ายขวา ที่ห่วงหา เอื้ออาทร เข้าใจในความเป็นมนุษย์ ผู้พานพบกับความทุกข์ทนมาทั้งชีวิต เท่านั้นที่จะรังสรรค์นวัตกรรม ลบล้าง สร้างใหม่วาทกรรม มายาคติข้ามพ้น “ความจน”
.............

เพลงนกกรุงหัวจุก เสียงร้องควั่น ภูคา เปิดดังลั่นกลบเสียงบรรยากาศครึกครื้นวงน้ำชายามเช้า ย่านปากพะยูน มอเตอร์ไซต์ด้านหน้าเรียงราย กรงนกกรุงหัวจุก หลากแบบกรง แขวนง่ายๆ เสียงจ่อกกวิก กวิก กวิก ๆๆๆ ประชันบทเพลง สายลมเบาๆ จากทะเลสาบพัดผ่าน ใคร ? ขยับกะปิเยาะห์เข้าที่ ไม่รีรอเปิดเรื่องเล่าใหม่ในวงสนทนา

Relate topics