The Agenda South

มีโอกาสที่ “สงครามอิสราเอล-ฮามาส” จะลามเข้าเติมเชื้อไฟใต้?!

by sorawit @17 ต.ค. 2566 13:48 ( IP : 124...102 ) | Tags : ทัศนะ - สนทนา
photo  , 1080x1080 pixel , 189,907 bytes.

ทัศนะ : ไชยยงค์ มณีพิลึก

แนวรบด้านทิศใต้เหตุการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง และยังคงเป็นไปตามวงรอบ นั่นคือ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้ง “กองกำลังติดอาวุธ” และ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังอาศัยช่องโหว่ที่เจ้าหน้าที่เผอเรอ ปฏิบัติการโจมตีด้วยไปป์บอมบ์และอาวุธปืน เพื่อสร้างสถานการณ์ให้เห็นว่า “ความขัดแย้ง” ยังดำรงอยู่ในพื้นที่

สอดรับกับความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมที่ “สภาเครือข่ายปัญญาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” (สคป.จชต.) จัดประชุมและออกแถลงการณ์ให้ยกเลิกการบังคับใช้ “พรก.ฉุกเฉิน” ซึ่งในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 จะครบกำหนดที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศลดการต่ออายุเหลือคราวละ 1 เดือนในรอบ 19 ปีไฟใต้ระลอกใหม่

สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการต่ออายุครั้งละ 3 เดือนเป็นอย่างน้อย การที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ลดเหลือ 1 เดือนถือเป็นการส่งสัญญาณต่อประชาชนกลุ่มที่ต้องการให้ยกเลิกการใช้ พรก.ฉุกเฉินหลงดีใจว่า รัฐบาลพลเรือนชุดนี้กำลังจะ “ปลดล็อกชายแดนใต้” ตามที่หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ในขณะที่ สคป.จชต.เคลื่อนไหวให้รัฐบาลยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ปรากฏว่า “สมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดยะลา” กลับออกมาคัดค้าน เพราะเล็งเห็นว่า ในพื้นที่ยังไม่มีความปลอดภัย ชาวไทยพุทธยังคงถูกคุกคามและขับไล่ให้พ้นไปจากพื้นที่ โดยมีการออกแถลงการณ์และยื่นหนังสือถึง รมว.ยุติธรรมผ่านทางผู้ว่าฯ ยะลา

นับเป็นความเห็นต่างคนในพื้นที่ที่มีความแตกต่างทั้งในด้าน “ชาติพันธุ์-ศาสนา-ภาษา” ที่มองและเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่คนละแบบ ช่างเหมือนคำกล่าวที่ว่า “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนนัยน์ตาคมเห็นดวงดาวอยู่พราวพราย”

หรือสิ่งนี้จะนำไปสู่สถานการณ์ “ปะทะทางความคิดเห็น” ของประชาชนในพื้นที่?!

อย่างไรก็ตาม การจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกการใช้ พรก.ฉุกเฉินในชายแดนใต้ก็น่าจะเหมือนกับที่ผู้เขียนฟังธงไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน กล่าวคือ คงไม่ยกเลิกแบบฉับพลัน เพราะยังไม่ถึงเวลา และหากจะยกเลิกจริงๆ ก็ต้องเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น อาจจะค่อยๆ ลดพื้นที่การประกาศใช้ลงไปเรื่อยๆ ก่อน

ท้ายที่สุดนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลการแก้ปัญหาไฟใต้ ก็ได้ “แถลงดับฝัน” กลุ่มต้องการให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินไปแล้วหลังประชุม “คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน” (กบฉ.) ที่มีมติให้ประกาศการใช้ต่อไปอีก 3 เดือน นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2566  เป็นต้นไป

แต่ที่น่าจับตาคือ มีการยกเลิกพื้นที่ยบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉินเพิ่มอีก 3 อำเภอครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัดคือ อ.กรงปีนัง จ.ยะลา อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งถูกประเมินว่า เป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีการก่อเหตุ แต่ก็หวนกลับมาเพิ่มพื้นที่ใช้ขึ้นอีก 1 อำเภอคือ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เพราะมีการก่อเหตุรุนแรงมากขึ้น

สรุปคือ ณ วันที่เขียนต้นฉบับนี้ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส มีอำเภอรวมกันทั้งหมด 32 อำเภอ เวลานี้มีการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉินรวม 20 อำเภอ ที่เหลือ 12 อำเภอปลอดจากการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉินไปแล้ว

อย่างที่เคยบอกไว้คือ พรก.ฉุกเฉินไม่ใช่ “เครื่องมือป้องกันการก่อเหตุ” ทั้งจากแนวร่วมและกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายบีอาร์เอ็น แต่มีไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้ “อำนาจพิเศษ” ในการปิดล้อม ตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่มีหมายจับติดตัวได้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ เพิ่มเติมจากที่ให้อำนาจไว้ในกฎหมาย ป.วิอาญา

โดยข้อเท็จจริง ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ไม่ต้องการให้รัฐบาลยกเลิก พรก.ฉุกเฉินอยู่แล้ว เพราะเป็นหนึ่งในหลายๆ เงื่อนไขสำคัญที่ช่วยสร้าง “ความไม่พอใจ” ให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชาวมุสลิม โดยบีอาร์เอ็นมักนำเงื่อนไขนี้ไปโฆษณาชวนเชื่อให้คนเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐอย่างได้ผลมาโดยตลอด

วันหนึ่ง หากขบวนการแบ่งแยกดินแดนต้องการ “โหมไฟความขัดแย้ง” ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ รวมถึงกับรัฐบาลด้วย บีอาร์เอ็นก็มักจะใช้วิธีก่อเหตุร้ายในอำเภอต่างๆ ที่มีการยกเลิก พรก.ฉุกเฉินให้มากขึ้น หรือรุนแรงยิ่งขึ้น เพื่อให้รัฐบาลหวนกลับมาประกาศใช้กฎหมายพิเศษฉบับนี้เพิ่มขึ้นนั่นเอง

ความจริงแล้ว ความขัดแย้งจากการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการปะทะกันด้วยความเห็นต่างระหว่างกลุ่มไทยพุทธและมุสลิม สิ่งนี้ถือเป็น “เหยื่ออันโอชะ” ของทั้ง “บีอาร์เอ็น” และ “องค์กรจากชาติตะวันตก” ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในชายแดนใต้ ด้วยการทำตัวเป็นหุ้นส่วนในการดับไฟใต้

ขณะที่รัฐบาล และโดยเฉพาะ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เชื่อว่าพื้นที่ 12 อำเภอที่ไม่บังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน อย่าง อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี อ.กรงปีนัง จ.ยะลา หรือ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เวลานี้ไม่เป็นที่ซ่องสุมหรือหลบซ่อนของกองกำลังติดอาวุธและแนวร่วมบีอาร์เอ็น ซึ่งประเด็นนี้กลับไม่มีหลักฐานเปิดเผยเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม

เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นอย่าง 4 อำเภอของ จ.สงขลาคือ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย ถูกประกาศเป็นพื้นที่ “ปลอดกฎหมายพิเศษ” แต่กลับปรากฏว่าวันนี้ได้กลายเป็นทั้งแหล่งซ่องสุมและหลบซ่อนของบรรดาหัวโจกขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ถูกเจ้าหน้าที่ไล่ล่า จนกลายเป็นอีกหนึ่งฐานที่มั่นสำคัญของบีอาร์เอ็นไปแล้ว

ที่สำคัญ กลุ่มที่ต้องการให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินควรชี้ให้เห็นชัดๆ ว่าพื้นที่ที่มีและไม่มีการบังคับใช้ ประชาชนที่เป็นผู้มีสัมมาอาชีวะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแบบไหน ปัญหาโจรผู้ร้าย ยาเสพติด การทำลายทรัพยากรธรรมชาติลดลงหรือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับการ “ยกเลิกด่านตรวจ” และการ “ไม่ต้องมีทหาร” ประจำการอยู่ในพื้นที่

ดังนั้น ก็ต้องจับตากันต่อว่า หลังรัฐบาลเปลี่ยนเป็นให้ต่อ พรก.ฉุกเฉินครั้งละ 3 เดือนตามแบบเดิม ความเคลื่อนไหวของ “ภาคประชาสังคม” ในพื้นที่ จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการโจมตีรัฐบาลและ กบฉ.ที่มักถูกมองว่ารับฟังความคิดเห็นคนในพื้นที่ไม่รอบด้าน

นอกจากนี้ ในสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องติดตามดูบทบาทฝ่ายค้านอย่าง “พรรคก้าวไกล” และ “พรรคเป็นธรรม” ที่เกาะติดปัญหาไฟใต้แบบเก็บทุกประเด็นมาตลอด ที่สำคัญ “พรรคประชาชาติ” ที่มี สส.ในชายแดนใต้มากสุดและเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ ซึ่งก็ต้องอธิบายความกรณี พรก.ฉุกเฉินให้ประชาชนเข้าใจให้ได้

ที่สำคัญ ความเห็นต่างระหว่างไทยพุทธกับมุสลิมในพื้นที่ควรต้องมองให้เป็นเรื่อง “สวยงามของดอกไม้หลากสี” ต้องไม่มีพยายาม “แยกที่ยืน” ของทั้งสองฝ่าย เพราะแผ่นดินชายแดนใต้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ความเห็นต่างย่อมต้องไม่ควรนำพาไปสู่การสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น

เรื่องของ พรก.ฉุกเฉินเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ได้และเสียประโยชน์โดยตรง เพราะคาบเกี่ยวกับ “สิทธิพิเศษ” จึงเป็นเรื่องที่ “ไม่ง่าย” ที่จะให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษนี้แบบฉับพลัน และโดยเฉพาะกับทั้งรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง ที่ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ของความไม่สงบในเวลานี้เอาเสียด้วย

จะว่าไปแล้วสงคราม “อิสราเอล-ฮามาส” ระลอกใหม่ก็ต้องนับเป็น “เชื้อไฟ” ที่พร้อมจะลามเข้าไทย และโดยเฉพาะ “พื้นที่พิเศษ” อย่างชายแดนใต้เมื่อไหร่ก็ได้ ต้องไม่ลืมในบ้านเมืองเรามีกิจการของคนอิสราเอลอยู่จำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขให้มีกลุ่มก่อการร้ายสากลเข้ามาเคลื่อนไหวหรือก่อเหตุก็เป็นได้

ที่กล่าวไว้ข้างต้นก็เนื่องจากชายแดนใต้ที่เป็นตั้งของ “ข้าศึกภายใน” ที่ยังคงเดินหน้าสร้างสถานการณ์ความรุนแรงอยู่ตลอด แถมเวลานี้อาจยังมี “ข้าศึกภายนอก” ที่พร้อมเข้ามาผสมโรง ดังนั้นจึงต้องถามว่า เวลานี้ทั้ง “รัฐบาล” และ “หน่วยงานความมั่นคง” มีความพร้อมรับมือได้มากแค่ไหน

Relate topics