The Agenda South

เล่าเรื่องประชาธิปไตยคนจน-ธนาคารแพะหวะแก้จน (1)

by sorawit @19 พ.ย. 2566 15:49 ( IP : 202...55 ) | Tags : ทัศนะ - สนทนา
photo  , 1080x1080 pixel , 180,340 bytes.

ทัศนะ โดย.. รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
กลิ่นขี้เลื่อยไม้ตัดหมาดจากโรงเรือนเสาสูงหลังคาจั่วโชยมาแตะจมูกแต่ไกล ร่องรอยการแปรรูปยังปรากฏให้เห็นชัดเจน สายฝนโปรยมาเล็กน้อย ข้าพเจ้าลงจากรถมหาวิทยาลัย ตรงดิ่งไปยังใต้ถุนโล่งของโรงเรือน พื้นดินยังเฉอะแฉะจากสายฝนสาดซัดในคืนล่วงผ่าน ก่อนการมาเยือนของเช้านี้

เสียงแพะ...แบะ แบะๆ ดังทั่วบริเวณแข่งกับเสียงพูดคุยสนทนาใบหน้าเปื้อนยิ้มของสมาชิกธนาคารแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง

“มุสลิมะฮ์” ในชุดอาบายะห์หลากสีคลุมฮิญาบ ปกปิดมิดชิด กระจายเป็นกลุ่มๆ ทำหน้าที่ทั่วอาณาบริเวณที่มีรั้วรอบขอบชิดชัดเจนมั่นคง บ้างเตรียมการอาหาร อาหารแพะหอมเครื่องเทศเย้ายวนชวนหิว บ้างจัดตกแต่งลานเสวนา นิทรรศการการดำเนินงานของกลุ่ม ขณะที่มุสลีมีนหลายคนวุ่นอยู่กับการต้อนแพะเหยียบย่างบันไดไม้ขึ้นคอก ก่อนการเฉลิมฉลองและการส่งมอบโรงเรือนและอุปกรณ์พื้นฐานเริ่มต้นการเลี้ยงแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ

คำว่า “หวะ” มาจากคำในภาษาถิ่นใต้ หมายถึงการผ่าออก การใช้มีดหรือของมีคมกรีดเพื่อให้สิ่งที่อยู่ข้างในออกมา ในที่รับรู้กันโดยทั่วไปมักใช้กับกลุ่มคนรับจ้างทำงานในสวน/ นาของผู้อื่น/ เจ้าของ แล้วแบ่งสันปันส่วนหรือผลผลิตที่ได้ให้แก่เจ้าของแทนค่าเช่าตามที่ตกลงกันไว้ เช่น ตัดยางหวะ แบ่งแบบ 6:4  ทำนาหวะ 5:5 เป็นต้น

สมาชิกธนาคารแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ ในตอนเริ่มต้นคือ คนกรีดจ้าง หรือคนตัดยางหวะ ที่ยากจน ไร้ตัวตนในระบบห่วงโซ่การผลิตและการทำสวนยาง เป็นแรงงานนอกระบบที่แทบไร้สวัสดิการ เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือและการเยียวยาใดๆ ไม่ว่าในยามปกติ หรือวิกฤตราคาผลผลิตตกต่ำเพียงใดก็ตาม

แม้มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรชาวสวนยาง เช่น การประกันรายได้/ราคา แต่คนกรีดยางที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนคนกรีดยาง จะไม่สามารถเข้าถึงการการช่วยเหลือ เยียวยาได้ หากมีอนิสงส์เกิดขึ้นได้บ้างก็มาจากการสงเคราะห์จากเจ้าของสวนยางเท่านั้น

ปัจจุบันมีคนกรีดยางหวะ ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพียง 272,733 ราย เท่านั้น สาเหตุมาจากทั้งการการปล่อยปละละเลย การไม่ตระหนักในสิทธิ์ของตน รวมการถูกกีดกัน/ปิดกั้นการเข้าถึงสิทธิ์จากเจ้าของสวน เป็นต้น

คนตัดยางหวะ ในแง่มุมทางภาษาและตำแหน่งแห่งที่จึงมีนัยของดูถูก ดูแคลน ข้นแค้น ขาดแคลนเรียกได้ว่าเป็นคนชายขอบของชุมชน/หมู่บ้านอย่างแท้จริง ข้าพเจ้ารับรู้-เข้าใจในเรื่องนี้ดี

พ่อ-แม่ ข้าพเจ้าเป็นคนตัดยางหวะมาก่อน

การข้ามผ่านการตัดยางหวะ จึงไม่ต่างจากการปีนป่าย ตะเกียกตะกายในหลุมลึกของความขาดแคลนที่ไร้ความหวัง ลางเลือน ไม่อาจเป็นไปได้

การเกิดขึ้นของเครือข่ายคนตัดยางหวะ กลายเป็นเรื่องตลกโปกฮาของชุมชน หมู่บ้าน ธนาคารแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ ตลกยิ่งกว่า?

หลุมบ่อได้รับการเติมเต็มเริ่มต้นจากการที่มหาวิทยาลัยทักษิณ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ริเริ่มโครงการเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้เปราะบางในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านโครงการธนาคารแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ” หรือ “กลุ่มแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ” ขึ้น เพื่อพัฒนาอาชีพและการพึ่งตนเองของชุมชน และครัวเรือนเป้าหมาย ด้วยกระบวนการระดมทุนบนฐานคิด การ “หวะ” การใช้ “หลักศาสนา-ศรัทธา” และการใช้กลุ่ม[ธนาคาร] เป็นกลไกการขับเคลื่อนเชิงระบบ

ด้วยนวัตกรรมเชิงการพัฒนาที่อุดช่องโหว่ความเสี่ยงการเลี้ยงแพะหวะแต่ดั้งเดิม ที่ผู้เลี้ยงแบกรับความเสี่ยงไว้เพียงลำพังมาสู่การจัดการแบบกลุ่มและการจัดการเชิงระบบ ที่เชื่อมโยงกันแบบ “มือบน-มือล่างและการเกื้อกูล” ด้วยการระดมทุน การจัดสรร แบ่งปันไปผลประโยชน์ตามศักยภาพ ทรัพยากรที่แต่ละกลุ่มมี/ ใช้ไป ทำให้มีผู้เข้าร่วมโครงการมากถึง 120 ครัวเรือน กลุ่มคนจน ทุนน้อย ลงหุ้น ระดมทุน ใช้แรงงานแลกเปลี่ยน สร้างโอกาสขยายฐานการเติบโตของกลุ่ม/ ธนาคารในอนาคต เช่น การจัดสรรกำไร/ผลประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้น ผู้เลี้ยง และกองกลางสำหรับขยายผลการประกอบการและการบริหารจัดการ ในสัดส่วน 40 : 50 : 10 เป็นต้น ทำให้เพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง

มากกว่ารายได้คือ การสำแดงตัวตน คุณค่า การยอมรับจากภายในและนอกชุมชน ธนาคารแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ กลายเป็นพื้นที่/ ศูนย์การเรียนรู้  มีปัญญา-ชุดวิชาแพะ ขยายผลสู่พื้นที่อื่น ทั้งในจังหวัดพัทลุง และจังหวัดชายแดนภาคใต้

**จากชายขอบเคลื่อนสู่ศูนย์กลางของชุมชน จากไร้ตัวตนกลายเป็นอัตลักษณ์ใหม่ ในนาม “นวัตกร” ผู้นำการเปลี่ยนแปลง **

หลุมบ่อได้รับการถมตื้น มีบทเรียนมากมายให้เรียนรู้

นี่คือรูปธรรมนวัตกรรมขยายผล และการเริ่มต้นขยายผลนวัตกรรมจากมือล่าง จะสร้างปรากฏการณ์ สำนึกใหม่ ที่เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของการสร้างประชาธิปไตยชุมชน จากความจนที่กางกั้น และการข้ามพ้น ด้วยความความหวัง ความฝัน และพลังคนจน
The Another Community is Possible ชุมชนใหม่ที่เป็นไปได้

เสียงอาซาน ละหมาด-ซุฮฺริ แว่วมาไกลๆ ข้าพเจ้ากล่าวคำลา-สลาม

**อัลฮัมดุลิลลาฮฺ- ฟีอะมานิลลาฮฺ ให้เดินทางปลอดภัยให้สวัสดิภาพ บางใครให้ดุอาอฺ **

Relate topics