The Agenda South

พัฒนาการธุรกรรมกับช่องทางการเงินดิจิทัลจากประเทศอินโดนีเซียสู่ประเทศไทย

by sorawit @17 พ.ย. 2566 14:57 ( IP : 202...167 ) | Tags : ทัศนะ - สนทนา
photo  , 1080x1080 pixel , 158,408 bytes.

ทัศนะ โดย.. ผศ.ดร.โสภิณ จิระเกียรติกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และอาจารย์พัลลภัช เพ็ญจำรัส คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด

เนื้อหาในบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย เรื่อง “เศรษฐกิจดิจิทัลของภาคการเงิน” ภายใต้แผนงานอาเซียนในกระแสแห่งความพลิกผัน ระยะที่ 2 เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลและงานในอนาคต : การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคการเงิน กรณีศึกษาประเทศอินโดนีเซีย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2565 โดยอาศัยกรอบแนวคิดจากประเด็นนัยของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการเงินผ่านมุมมองจากประเทศอินโดนีเซีย เรื่อง การปรับใช้เทคโนโลยีเข้ากับระบบการชำระเงินดิจิทัลในผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) ในประเทศอินโดนีเซีย

๐ พัฒนาการธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับช่องทางการเงินดิจิทัลภาครัฐในประเทศอินโดนีเซีย

พัฒนาการชำระเงินแบบดิจิทัลในอินโดนีเซียเพิ่มความสำคัญมากยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักคือ แรงผลักดันจากการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศและการใช้สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่เพิ่มขึ้น พัฒนาการที่สำคัญในอุตสาหกรรมการชำระเงินดิจิทัลในอินโดนีเซีย คือ การเพิ่มขึ้นของ e-wallets นอกจากนี้ การชำระเงินด้วยรหัส QR ได้กลายเป็นวิธีการชำระเงินทั่วไปในอินโดนีเซีย รัฐบาลอินโดนีเซียให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการชำระเงินดิจิทัล มีการริเริ่มโครงการต่างๆ เช่น National Payment Gateway เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบในการชำระเงิน

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความท้าทายเพิ่มเติม ในพัฒนาการธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับช่องทางการเงินดิจิทัล ในส่วนภาครัฐของประเทศอินโดนีเซีย มีการนำระบบการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลระหว่างรัฐบาลต่อบุคคล (G2P) แบบหลายช่องทางของ Kartu Prakerja ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของระบบ และเป็นกระบวนการดิจิทัลของรัฐบาลในการจ่ายเงินช่วยเหลือสังคม และให้ผู้รับเป็นศูนย์กลางในการจัดการธุรกรรม การให้ความช่วยเหลือ Kartu Prakerja จัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเบิกจ่ายเงินจำนวนมาก อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการแบบ G2P แบบเดิมซึ่งมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ความครอบคลุมผู้ใช้งานไม่เพียงพอ ความซับซ้อนในการเข้าถึงระบบสูง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง แต่ความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อข้อมูลต่ำ และมีตัวเลือกของผู้ให้บริการที่จำกัด ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีสัญญาณที่จะนำระบบการส่งความช่วยเหลือทางสังคมด้วยระบบนี้มาใช้ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชน การสนับสนุนเพื่อสร้างระบบการทำงานแบบบูรณาการผ่านการทำให้เป็นดิจิทัลระหว่างบริการสาธารณะและบริการทางการเงิน ทำให้พิสูจน์ได้ว่าโครงการนี้สามารถสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการเข้าถึงทางการเงิน

๐ โอกาสและพัฒนาการธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับช่องทางการเงินดิจิทัลที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในประเทศอินโดนีเซีย

พัฒนาการชำระเงินแบบดิจิทัลในอินโดนีเซียด้วยระบบ e-wallets การชำระเงินด้วยรหัส QR ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่จะผลักดันการเติบโตในอุตสาหกรรมการชำระเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นโอกาสใหม่สำหรับธุรกิจและผู้บริโภค ด้วยเงื่อนไขที่เผชิญกับข้อจำกัดและการล็อกดาวน์ที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียจึงให้การยอมรับธุรกรรมการเงินแบบดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตอย่างรวดเร็วของทั้งการชำระเงินแบบดิจิทัลและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ จำนวนผู้ใช้ e-Wallet ในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นท่ามกลางโอกาสทางการตลาดที่กว้างขวาง ผู้เล่นรายใหญ่เริ่มขยายการแข่งขันนอกเหนือจากการชำระเงิน โดยผู้ให้บริการฟินเทคในท้องถิ่นกำลังครอบครองพื้นที่การชำระเงินดิจิทัลของอินโดนีเซีย ผู้ให้บริการที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคารกำลังร่วมมือกันเพื่อขยายฐานลูกค้าท่ามกลางการแข่งขัน ผู้ให้บริการ e-wallet ของอินโดนีเซียกำลังมองหาโอกาสการใช้งานที่มากกว่าการชำระเงิน เพื่อขยายระบบนิเวศและสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น

๐ มุมมองพัฒนาการทางการเงินดิจิทัลในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย พัฒนาการทางการเงินดิจิทัลในประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น ยังมีช่องว่างทางการตลาดมากมายให้นักลงทุนได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อสนองต่อผู้รับบริการจำนวนมหาศาล หากได้รับปัจจัยเกื้อหนุนจากทางนโยบายต่างๆ จากภาครัฐที่มีโครงการที่มีเงินสนับสนุน จะเป็นแรงจูงใจที่ดีในการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้เปิดรับการทำธุรกรรมดิจิทัล ปัจจัยเชิงบวกทั้งหมดนี้หากมีการแข่งขันจะส่งผลให้มีการจับมือเป็นพันธมิตร เพื่อสร้างเครือข่ายการเงินดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพการพัฒนาความร่วมมือผ่านระบบนิเวศทางการเงินที่หลากหลาย จะเป็นตัวเลือกให้ประชาชนในการทำธุรกรรมดิจิทัลให้สามารถสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนการเข้าถึงทางการเงินได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

Relate topics