The Agenda South

ย้อนรอย 33 ปี “พายุไต้ฝุ่นเกย์” พัดถล่มประเทศไทย

by Soranat @4 พ.ย. 2565 17:01 ( IP : 184...196 ) | Tags : ทัศนะ - สนทนา
photo  , 768x433 pixel , 107,913 bytes.

ประเทศฟิลิปปินส์ ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน นัลแก เสียชีวิตกว่า 100 ราย และเศรษฐกิจได้รับความเสียหาย ก่อนหน้านั้นก็ได้รับผลกระทบจากไต้ฝุน โนรู มาแล้ว ช่วงนี้จึงมักเกิดพายุและส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในทะเลจีนได้บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับประเทศไทย

วันนี้ในอดีตพายุไต้ฝุ่นเกย์ เมื่อ 33 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 พายุไต้ฝุ่นเกย์ซึ่งก่อตัวในอ่าวไทย เคลื่อนเข้าถล่มพื้นที่อำเภอปะทิวและอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ราบเป็นหน้ากลอง มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1,000 คน

พายุไต้ฝุ่นเกย์ (TyphoonGay) เป็นพายุหมุนเขตร้อนทรงพลังซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักในจังหวัดชุมพรและประเทศอินเดียฝั่งตะวันออกในเดือนพฤศจิกายน 2532 เป็นพายุไต้ฝุ่นครั้งเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรมลายูรอบ 35 ปี

พายุก่อตัวขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ในอ่าวไทยตอนล่าง ข้ามคาบสมุทรมลายู เคลื่อนเข้าไปในมหาสมุทรอินเดียเหนือ และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนระดับ 5 ก่อนขึ้นฝั่งในประเทศอินเดีย และสลายตัวเหนือเทือกเขากัตส์ตะวันตกในอินเดีย ในวันที่ 10 พฤศจิกายน

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 เวลา 08.30 น. พายุไต้ฝุ่นเกย์เคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตอนบนด้วยความเร็วถึง 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วของพายุไต้ฝุ่นในระดับ 3 ถล่ม อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ บางสะพานน้อย และบางสะพาน ก่อนขึ้นฝั่งที่อำเภอท่าแซะ และปะทิว จังหวัดชุมพร

ทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง ที่อำเภอบางสะพานน้อย บางสะพาน ท่าแซะ และปะทิว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 446 คน บาดเจ็บ 154 คน บ้านเรือนเสียหาย 38,002 หลัง ประชาชนเดือดร้อน 153,472 คน เรือล่ม 391 ลำ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานเรือขุดเจาะน้ำมันซีเครสต์อับปางลงนอกชายฝั่ง มีลูกเรือเสียชีวิต 91 คน รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 537 คน  สำหรับเรือซีเครส DS Sea Crest เป็นเรือขุดเจาะน้ำมัน ต่อจากประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2520 มีความสูง 7.3 เมตร วัดจากท้องเรือถึงดาดฟ้าหลัก

พายุไต้ฝุ่นเกย์ถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยมากที่สุดในรอบ 27 ปี นับตั้งแต่ พายุโซนร้อนแฮเรียตถล่มแหลมตะลุมพุก ในปี 2505 เป็นพายุลูกเดียวในประวัติศาสตร์ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยในระดับไต้ฝุ่น และยังเป็นพายุที่มีความเร็วลมสูงสุดขณะขึ้นฝั่งเท่าที่เคยมีมาในคาบสมุทรมลายู

เมื่อรวบรวมความเสียหายของประเทศไทยและอินเดียแล้ว พบว่ามีผู้เสียชีวิตรวม 902 คน สูญหาย 134 คน รวมความเสียหายคิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท

Relate topics