The Agenda South

รัฐบาลใหม่กล้าไหม! ปรับรื้อ 3 องค์กร 1 กระบวนการดับไฟใต้

by sorawit @12 ก.ย. 2566 14:09 ( IP : 49...11 ) | Tags : ทัศนะ - สนทนา
photo  , 1080x1080 pixel , 175,696 bytes.

ทัศนะ : ไชยยงค์ มณีพิลึก

ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเดินหน้าต่อตามวงรอบแผนปฏิบัติการทางทหารหรือ “สงครามกองโจร” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น ซึ่งยังคงใช้กองกำลังติดอาวุธก่อเหตุเพื่อ “หล่อเลี้ยงความรุนแรง” ที่มีเป้าหมายเพื่อ

1.ให้นานาชาติโดยเฉพาะประเทศมุสลิมเห็นว่า ในชายแดนใต้ของไทยยังมีความขัดแย้ง มีการใช้อาวุธต่อสู้ และมีมุสลิมที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

2.เพื่อให้องค์กรชาติตะวันตก โดยเฉพาะเจนีวาคอลล์และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ที่บงการอยู่ในชายแดนใต้สมประสงค์ในภาพของการขัดกันด้วยอาวุธหรือ “อาร์มคอนฟิกซ์” เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดนของบีอาร์เอ็น

และ 3.เพื่อใช้เป็น “กับดัก” ให้ทหาร ตำรวจและกองกำลังท้องถิ่นต้องทุ่มกำลังพลป้องกันเหตุ และหากมีการปิดล้อมจับกุมแนวร่วมก็จะนำไปสู่ภาพของการเกิด “วิสามัญฆาตกรรม” ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขเพิ่มตามที่บีอาร์เอ็นต้องการ

ในประเด็นหลัง ทุกครั้งที่มีการวิสามัญฯ สิ่งที่ตามมาคือความโกรธแค้นชิงชังของคนในพื้นที่ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ นั่นนอกจากเพิ่มมวลชนให้แก่ฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังช่วยสร้าง “เยาวชนปฏิบัติ” รุ่นใหม่ๆ ให้บีอาร์เอ็นเพื่อเตรียมไว้ปฏิบัติการใหญ่ๆ ในอนาคตอีกด้วย

หลังปฏิบัติการใหญ่หน้าเทศบาลตำบลยะรัง จ.ปัตตานี ตำรวจและ อส.เสียชีวิตถึง 4 ศพ บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ก็ยังมีเหตุตามมาเป็นระยะ ทั้งปาไปป์บอมบ์ในโรงเรียนที่ จ.ปัตตานี วางบึ้มโจมตีหน่วยทหารพัฒนาบาดเจ็บ 2 นายที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส และล่าสุดวางกับระเบิดแบบเหยียบชุดลาดตระเวนของทหารพรานที่ ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ดับ 1 ศพและบาดเจ็บ 2 นาย

นั่นแสดงให้เห็นว่า งานด้านการทหารของบีอาร์เอ็นยังดำเนินการต่อ ขณะที่ “งานการข่าว” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ายังคงล้มเหลวเหมือนเดิม ไม่มีข้อมูลเคลื่อนไหวของฝ่ายบีอาร์เอ็น ทั้งในชายแดนใต้และในรัฐกลันตัน รัฐตรังตานูและรัฐปาหังที่เป็นฐานที่มั่นระดับแกนนำของบีอาร์เอ็นฝั่งมาเลเซีย

การที่ “นัจรูดิน บิน ฮัจจีอับดุลเลาะห์” สมาชิกบีอาร์เอ็นอายุ 50 ปีถูกเจ้าหน้าที่มาเลเซียจับกุมได้เสียก่อนที่บ้านบูโล๊ะฆง อ.ปาเสมัส รัฐกลันตัน ขณะลำเลียงวัตถุระเบิดจำนวนมากผ่านช่องทางขนส่งสินค้าเถื่อนข้ามมายังฝั่งไทยที่บ้านมูโนะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่เกิดเหตุโกดังประทัดระเบิดกลางตลาดไม่นานมานี้

เรื่องนี้ทำให้เข้าใจได้ว่ามาเลเซีย “ไม่ได้ให้ความร่วมมือ” กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในด้านการข่าวเลย และไม่มีการส่งผู้รายข้ามแดนให้ด้วย จึงเชื่อว่าจะเหมือนกับทุกครั้งที่มาเลเซียเคยจับกุมคนของบีอาร์เอ็นที่มีหมายจับของทางการไทยด้วย เช่น “มูหะมัดซิดี อาลี” หรือ “มามะคอยลี สือแม” ถูกจับขณะที่ขนอุปกรณ์ประกอบระเบิดข้ามมายังชายแดนใต้ แต่ศาลมาเลเซียลงโทษแค่คดีหลบหนีเข้าเมือง ไม่มีเรื่องการครอบครองวัตถุระเบิด

นี่เป็นอีกประเด็นที่ “วิกฤตไฟใต้” ไม่มีวันจะมอดดับลงได้ เพราะมาเลเซียถือเป็น “เงื่อนไขสำคัญมาก” แต่รัฐบาลไทยกลับไม่เคยได้รับความร่วมมือในการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เชื่อเถอะมาตรการดับไฟใต้ไม่ว่าจะรัฐบาลเก่าหรือใหม่คงหวังได้ก็ชาติหน้าตอนบายแก่ๆ โน้นแหละ

ที่นำเรื่องซ้ำซากมาบอกเล่าเพราะ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” จากพรรคเพื่อไทยกำลังขึ้นมากุมบังเหียนประเทศ โดยมีอะไรที่แปลกใหม่คือ “สุทิน คลังแสง” พลเรือนที่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ได้มานั่งกุมบังเหียนกองทัพในตำแหน่ง รมว.กลาโหม แถมด้วย “ภูมิธรรม เวชยชัย” รมว.พาณิชย์ควบรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งต้องกำกับดูแล กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และมี “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” หัวหน้าพรรคประชาชาติเป็น รมว.ยุติธรรม

ความจริงแล้วทุกพรรคร่วมรัฐบาลที่เพิ่มเติมคือ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ถือว่าสืบต่อมาจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนหาเสียงอาจเสนอนโยบายแตกต่างกันบ้าง แต่มีเป้าหมายที่ต้องการดับไฟใต้ด้วยกันทั้งสิ้น ทว่าไฟใต้ระลอกใหม่ผ่านมาแล้ว 19 ปี เวลานี้ก็ยังอยู่ในวังวนและกับดักความขัดแย้งเดิมๆ จนดูเหมือนพลัดหลงอยู่ในเขาวงกตที่หาทางออกไม่พบ

จึงได้แต่หวังว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะปรับเปลี่ยนนโยบายดับไฟใต้ที่ต่างจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์คือ

1.ปรับบทบาท กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จาก “หน่วยงานความมั่นคงของทหาร” ให้เป็น “ความมั่นคงของประชาชนชายแดนใต้” แม้จะไม่มีการถอนทหารและยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษแบบที่พรรคก้าวไกลอย่างทำก็ตาม

2) ปรับบทบาทศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้หลุดพ้นจาก “กรงเล็บ” หรือไม่ขึ้นตรงต่อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยให้เป็น “หน่วยงานด้านการพัฒนาที่มีอิสระ” เช่นเมื่อครั้งที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เคยนั่งเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งสมัยนั้นงานของ ศอ.บต.เปล่งประกายให้เห็นประสิทธิภาพอย่างสูงสุด

3.ปรับให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีบทบาทมาตรการดับไฟใต้ได้เต็มที่ โดยเฉพาะคนที่จะมานั่งตำแหน่ง “เลขาธิการ สมช.” ต้องไม่ใช่ “นายพลอกหัก” จากตำแหน่งหลักในกองทัพเหมือนที่เป็นมาตลอด 9 ปีของรัฐบาลที่สืบทอดจากรัฐประหาร จนรู้สึกว่า สมช.มีไว้เพื่อความมั่นคงของนายกฯ มากกว่าชาติบ้านเมือง

จึงต้องติดตามกันว่าหลัง พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เกษียณจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ รัฐบาลใหม่จะแต่งตั้งใครมาแทน จะเป็นลูกหม้อที่เป็นพลเรือน หรือนายพลอกหักแบบเดิมๆ

และ 4.ต้องมีการปรับเปลี่ยน “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” ระหว่างรัฐบาลกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งก็ต้องติดตามว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะตั้งให้ใครเป็น “หัวหน้าคณะเจรจา” และจะวาง “รูปแบบ” การเจรจาอย่างไร

ทั้งหมดทั้งปวงเป็นเรื่องสมควรต้องเกิดขึ้น เพราะถือเป็นอีกช่องทางกู้คืนความนิยม ภายหลังจากใช้ต้นทุนหมดหน้าตักและยอมตระบัดสัตย์ไปจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ทำหรือทำไม่สำเร็จ นั่นยิ่งจะเป็นแรงสั่นสะเทือนให้ถึง “จุดจบ” บนเส้นทางทางการเมืองในการเลือกตั้งสมัยหน้าอย่างแน่นอน

Relate topics